หลังเซ็นต์สัญญาไฟเซอร์ 20 ล้าน สธ. มั่นใจ สิ้นปีได้วัคซีน 100 ล้านโดส

65

สธ.จัดหาวัคซีน ฉีดให้ ปชช. 100 ล้านโดสในปี 64 ทั้งซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า และ ไฟเซอร์ พร้อมระบุ วัคซีนไฟเซอร์ ที่ สหรัฐฯ บริจาค จะมาถึงปลาย ก.ค.นี้ และเริ่มฉีดกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ด่านหน้าเป็น บูสเตอร์โดส ก่อนในช่วง ส.ค. ย้ำขอทุกคนอยู่กับบ้าน งดการเดินทาง 14 วัน ลดการแพร่เชื้อจากครอบครัวหนึ่งไปอีกครอบครัวหนึ่ง

วันที่ 20 ก.ค. 2564 ที่ ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงข่าวการจัดหาวัคซีน และ มาตรการล็อคดาวน์เพื่อควบคุมโรคโควิด 19 โดย นพ.โอภาส กล่าวว่า กรมควบคุมโรค และ บริษัทไฟเซอร์ จำกัด ได้ลงนามสัญญาจัดหาวัคซีน mRNA จำนวน 20 ล้านโดส หลังจาก ครม.อนุมัติให้ลงนาม และ จะส่งมอบตามแผนภายในไตรมาส 4 ปี 2564 ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ ที่ รัฐบาลสหรัฐอเมริกา บริจาคให้ประเทศไทย 1.5 ล้านโดสจะมาถึงประมาณปลายเดือน ก.ค.นี้ และคาดว่าจะเริ่มฉีดได้ ในช่วงเดือน ส.ค. ซึ่ง ศบค.เห็นชอบกำหนดกลุ่มเป้าหมาย คือ1.บุคลากรทางการแพทย์ และ สาธารณสุขด่านหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโควิดที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว เพื่อกระตุ้นเป็นเข็ม 3 หรือ บูสเตอร์โดส 2.กลุ่มผู้สูงอายุหรือกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ระบาด และ 3.ชาวต่างชาติที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ระบาด

“กระทรวงสาธารณสุขให้แต่ละจังหวัดแจ้งยอดกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าในการรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งเป็นกลุ่มแรก ที่จะดำเนินการฉีดก่อน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสอบถามข้อมูล ดังนั้น ข่าวที่ว่ามีโรงพยาบาลหลายแห่งส่งข้อมูลไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และ คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร จะมีการสอบทานเพื่อให้ได้จำนวนที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายและแจ้งมายังส่วนกลางต่อไป” นพ.โอภาสกล่าวและว่า

การจัดหาวัคซีนโควิด 19 มีการลงนามจองซื้อ และ จะส่งมอบตามสัญญาจำนวน 100 ล้านโดสในปี 2564 ได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส ซิโนแวค 19 ล้านโดส และไฟเซอร์ 20 ล้านโดส แต่ความต้องการฉีดวัคซีนของประชาชนมีจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขจะจัดหาเพิ่มเติมและแจ้งความคืบหน้าต่อไป สำหรับการลงนาม 3 ฝ่ายระหว่างกรมควบคุมโรค แอสตร้าเซนเนก้า และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2563 มีข้อตกลงว่าจะไม่เปิดเผยความลับในสัญญา ถ้าจะเปิดเผยต้องได้รับความยินยอม 3 ฝ่าย มิเช่นนั้นถือว่าทำผิดสัญญาและอาจถูกยกเลิกไม่มีการส่งวัคซีนให้ประเทศไทยได้ ทั้งนี้ ในสัญญาไม่ได้มีประเด็นอะไรซับซ้อน แต่ภาคเอกชนคำนึงถึงความลับทางการค้าที่อาจมีผลกับการทำสัญญากับอีกหลายประเทศ
“การทำสัญญากับแอสตร้าเซนเนก้าเป็นช่วงที่ยังไม่มีการผลิต จึงไม่สามารถกำหนดจำนวนที่ผลิตและจัดส่งให้ได้ ต้องเจรจากันล่วงหน้าในแต่ละเดือน สำหรับข่าวที่บอกว่าเราต้องการ 3 ล้านโดสต่อเดือนนั้น ไม่เป็นความจริงความต้องการแต่ละเดือนอยู่ที่ 10 ล้านโดส จากการเจรจาล่าสุดทางบริษัทจะส่งให้เราได้อย่างน้อยประมาณ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน ทั้งนี้ขึ้นกับกำลังการผลิต หากผลิตได้เพิ่มขึ้นก็จะส่งมอบให้ได้มากขึ้น” นพ.โอภาสกล่าว

สำหรับผลการศึกษาประสิทธิผลการใช้วัคซีน “ซิโนแวค” ในสถานการณ์จริงของประเทศไทย โดยติดตามกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและบุคลากรทางการแพทย์ พบว่า จ.ภูเก็ตป้องกันการติดเชื้อ 90% จ.สมุทรสาคร ป้องกันการติดเชื้อประมาณ 90% แต่เป็นช่วงของสายพันธุ์อัลฟา ส่วนเดือนมิถุนายน 2564 มีการระบาดในบุคลากรทางการแพทย์ จ.เชียงราย ผลการศึกษาพบว่าประสิทธิผลอยู่ที่ 82.8% แม้จะลดลงแต่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ ส่วนการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์ทั้งประเทศรวบรวมโดยกรมควบคุมโรค ช่วงเดือนพฤษภาคมพบว่าป้องกันการติดเชื้อ 70.9% ข้อสังเกตคือประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อเริ่มลดลง เนื่องจากเชื้อกลายพันธุ์ จึงต้องหาวิธีเพิ่มประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อให้ดีขึ้น เป็นที่มาของการปรับสูตรการฉีดวัคซีนเป็นเข็ม 1 ซิโนแวค เว้น 3-4 สัปดาห์ฉีดเข็มสองเป็นแอสตร้าเซนเนก้า ประสิทธิผลการป้องกันโรคสูงขึ้นหลายเท่าเมื่อเทียบกับการฉีดซิโนแวค 2 เข็ม รวมถึงฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมรวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากใช้เวลา 4 สัปดาห์ จากเดิมฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มต้องเว้นช่วง 12 สัปดาห์ ทำให้รองรับสถานการณ์การระบาดได้ดียิ่งขึ้น

ด้านมาตรการล็อคดาวน์ในขณะนี้ การจะควบคุมสถานการณ์การระบาดต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากประชาชน อยู่บ้านให้มากที่สุด Work From Home หากมีผู้สูงอายุที่บ้านให้รีบพาไปรับวัคซีน ส่วนการปิดร้านอาหารภายในห้างสรรพสินค้า 14 วันนั้น จะมีการประเมินตามสถานการณ์ หากแนวโน้มดีขึ้นก็อาจผ่อนคลายให้กลับมาเปิดได้ อย่างไรก็ตาม ร้านอาหารนอกห้างสรรพสินค้ายังเปิดได้ถึง 20.00 น. โดยให้ซื้อกลับบ้าน
ด้านนพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กล่าวว่า วันนี้เป็นอีกวันในรอบ 4 วันที่มียอดผู้ป่วยรายใหม่เกิน 1 หมื่นราย เสียชีวิต 80 ราย สถานการณ์ช่วงนี้ติดเชื้อรุนแรง ทั้ง กทม. ปริมณฑล และต่างจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเดินทางกลับไปรักษาในภูมิลำเนา เกิดการระบาดต่อเนื่องในหลายจังหวัด ในครอบครัวและชุมชน เพราะไม่ได้กักตัวเองจนครบ 14 วัน ขณะที่เชื้อสายพันธุ์เดลตาแพร่รวดเร็ว หากติดในผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังมีโอกาสอาการรุนแรงได้ สิ่งที่จะช่วยป้องกันอาการรุนแรงของโรค คือ วัคซีน ซึ่งวันที่ 19 ก.ค. 2564 ฉีดเพิ่มขึ้น 2.5 แสนโดส โดยช่วงนี้จะเน้นการฉีดในผู้สูงอายุ กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ ซึ่ง กทม.ฉีดสะสมกลุ่มผู้สูงอายุเกือบ 60% แล้ว ขอให้ช่วยกันในการฉีดวัคซีนผู้สูงอายุอีก 40% ให้ครบใน 2 สัปดาห์นี้

สำหรับมาตรการล็อกดาวน์ตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ยังไม่ใช่ล็อกดาวน์ 100% แต่มาตรการที่ออกมาต้องการให้งดการเดินทาง อยู่กับบ้าน ลดการแพร่เชื้อจากครอบครัวหนึ่งไปอีกครอบครัวหนึ่ง เพราะการทำกิจกรรมทั้งในที่ทำงาน ภายนอกบ้านและขนส่งสาธารณะ ทำให้แพร่เชื้อต่อเนื่องได้ รวมถึงคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว เนื่องจากวัคซีนทุกตัวแม้จะฉีดครบแล้วก็มีโอกาสติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ ต้องช่วยกันอยู่บ้านด้วย ทั้งนี้ มาตรการด้านสาธารณสุขช่วง 14 วันนี้ ขอให้เริ่มวันนี้เป็นวันแรกอย่างจริงจัง คือ 1.ขอให้ทุกคนงดออกจากบ้าน 2.ป้องกันการติดเชื้อคนในบ้าน โดยสวมหน้ากาก แยกกันรับประทานอาหาร แยกที่นอน ทำความสะอาดบริเวณที่จับร่วมกันบ่อยๆ เช่น ลูกบิด ราวบันได โต๊ะอาหาร พัดลม รีโมท งดกิจกรรมหรือการสัมผัสที่ใกล้ชิดกันมากๆ

“ข้อยกเว้นการออกจากบ้าน คือ ซื้ออาหาร เครื่องใช้จำเป็น ยา ไปพบแพทย์ หรือไปฉีดวัคซีน รวมถึงคนทำงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข และผู้ปฏิบัติหน้าที่สาธารณะ เช่น ทหาร ตำรวจ จิตอาสาที่มาช่วยเรื่องอาหารในกลุ่มเปราะบาง การออกจากบ้านถ้าไม่ระวังตัวอาจรับเชื้อและแพร่ต่อคนในบ้านหรือครอบครัวอื่น สิ่งที่ต้องทำเป็นประจำ คือ ออกจากบ้านต้องเว้นระยะห่าง คนซื้อของเยอะอย่าเข้าไปเบียดหรือแออัด สวมหน้ากากตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ พกเจลแอลกฮออล์ และงดรับประทานอาหารร่วมกัน” นพ.จักรรัฐกล่าวและว่า

หากร่วมมือกันดำเนินการอยู่บ้าน ป้องกันคนในบ้าน และสวมหน้ากากตลอดเวลา มาตรการล็อกดาวน์จะสัมฤทธิ์ผลมากขึ้น คาดว่ายอดติดเชื้อรายใหม่จะลดลงใน 1-2 เดือน ซึ่งมาตรการจะได้ผลหรือไม่อยู่ที่ทุกคนช่วยกัน ถ้ายังออกจากบ้านแพร่เชื้อไปอีกบ้านโอกาสได้ผลก็ลดลง ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อต้องการให้ลดลงจนเพียงพอกับขีดความสามารถทางการแพทย์ เตียงรองรับได้ อย่าง กทม.ต้องต่ำกว่า 1 พันราย หรือถ้าต่ำกว่า 500 ราย การล็อกดาวน์ถือว่าได้ผลมาก