“สธ.-คค.” จับมือ!! กำหนด มาตราการ คุมเข้ม ขนย้ายผู้ป่วยโควิด กลับภูมิลำเนา

38

“สาธารณสุข – คมนาคม”  จับมือผนึกกำลัง เดินหน้า โครงการขนย้าย ผู้ป่วยโควิด กลับภูมิลำเนา กำหนดมาตรการคุมเข้ม พร้อมจัดสายด่วน 1330 อำนวยความสะดวก แจ้งความประสงค์ขอกลับบ้าน

วันที่ 22 ก.ค. 2564 ที่ ทำเนียบ รัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา มอบหมายให้ กระทรวงทรวงสาธารณสุข ประสานกับ รัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องการเดินทางกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนา เพื่อลดความหนาแน่นในการรองรับผู้ป่วยใน กทม.และปริมณฑล

ล่าสุดสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กองทัพบก และ กระทรวงคมนาคม ได้ประสานความร่วมมือ จัดรถรับ-ส่งผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ที่ต้องการกลับภูมิลำเนาแล้ว โดยประชาชนที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 อาการไม่รุนแรง ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล สามารถติดต่อได้ที่สายด่วน  1330 กด 15  หรือ ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ https://crmdci.nhso.go.th/

สำหรับขั้นตอนการดำเนินการนั้น เมื่อผู้ป่วยรับทราบผลการติดเชื้อโควิด-19 แล้วแจ้งไปยังสายด่วน 1330 ประสงค์เดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม สปสช.และ กระทรวงคมนาคม จะประสานไปยังจังหวัดปลายทาง เพื่อส่งตัวผู้ป่วยเข้ารักษาที่ โรงพยาบาล หรือ โรงพยาบาลสนามในจังหวัด โดยมีมาตรการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่เข้มงวด ปลอดภัย ซึ่งเป็นข้อกำหนดจาก กรมควบคุมโรค และ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เช่น มีอุปกรณ์กั้นผู้ป่วยแยกกับคนขับ มีมาตรการเว้นระยะห่าง สำหรับรถตู้ให้โดยสารได้ไม่เกิน 5 คน พร้อมมีแพทย์วิดีโอคอล ให้คำปรึกษาอาการระหว่างการเดินทาง โดยกระบวนการขนย้ายนี้ เป็นความร่วมมือของกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย และ กรมการขนส่งทหารบก

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับ กระทรวงคมนาคม ได้กำหนดมาตรการ ด้านการขนส่งผู้ป่วยไว้เป็นอย่างดี โดยให้ดำเนินการ ตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด อาทิ การเว้นระยะห่างภายในรถ การทำความสะอาด รวมทั้งการจัดเตรียมอาหารและเครื่องดื่มให้กับผู้ป่วยระหว่างเดินทาง พร้อมประสานขอให้จังหวัดปลายทาง ดำเนินการวางแผนการรองรับผู้ป่วย เมื่อเดินทางถึงภูมิลำเนา นอกจากนี้ ยังเพิ่มช่องการอื่น เช่น ไลน์ กรณีที่หน่วยงานใด ต้องการการสนับสนุน จากกระทรวงคมนาคม เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันต่อสถานการณ์