“หมอจุฬาฯ” ชง!! 4แนวทาง แก้วิกฤตโควิด ตัดวงจรระบาด ล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ

68

คณะแพทย์ จุฬาฯ เสนอแนวทาง 4 ข้อ แก้วิกฤตโควิด แนะรัฐบาล ตัดวงจรการระบาดอย่างเด็ดขาดโดยเร็ว ประกาศ ล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ ต่อเนื่อง 4 สัปดาห์

วันที่ 31 ก.ค. รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” ระบุถึงสถานการณ์ แพร่ระบาดของ โควิด-19 โดย เสนอแนวทางแก้ปัญหาในประเทศไทยว่า

…วิเคราะห์สถานการณ์ของไทย… สิ่งที่ควรทำคือ หนึ่ง “มุ่งตัดวงจรการระบาดอย่างเด็ดขาดโดยเร็ว” เพราะหากเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ประชาชนจำนวนมากอาจยืนระยะในการดำรงชีวิตไม่ไหว ควรพิจารณาดำเนินการทำ Full national lockdown 4 สัปดาห์ พร้อมปูพรมตรวจ และเยียวยาช่วยเหลือ ประคับประคองเรื่องอาหาร น้ำดื่ม ที่พักพิง แก่ประชาชนสอง “ใช้วัคซีนที่ได้รับบริจาคมาอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการสากล” สิ่งที่ควรพิจารณาทำคือ การให้วัคซีน Pfizer 2 เข็มให้ครบโดส แก่บุคลากรด่านหน้าทุกคน และกลุ่มเสี่ยงตามลำดับ ในขณะที่คนที่ได้ Astrazeneca มาแล้วเข็มแรก หากอายุน้อยกว่า 60 ปี ควรพิจารณาให้ Pfizer เป็นเข็มที่สอง แต่หากอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ก็สามารถให้ Astrazeneca เป็นเข็มที่สองได้

สาม ควรพิจารณาทบทวนเรื่อง home isolation เนื่องจากพื้นที่ระบาดรุนแรงมีมาก และ demand > supply ทำให้บริการได้ไม่ทั่วถึง และอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อภายในที่อยู่อาศัยไปเรื่อยๆ ดังนั้นจึงควรพิจารณาเตรียมความพร้อม และปรับ”วัดและโรงเรียน” ทั่วประเทศเป็นที่พักคอย สำหรับให้ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการมาอยู่ โดยขอความช่วยเหลือจากพระภิกษุและคุณครู มาเป็นผู้ช่วยกำกับดูแล ประสานงานในภาพรวมของแต่ละที่ โดยมีบุคลากรทางสาธารณสุขให้คำแนะนำ

สี่ ควรแนะนำให้กิจการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ขันน็อตเรื่องมาตรการความปลอดภัยให้เข้มข้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากบทเรียนจากต่างประเทศในอดีตชี้ให้เห็นว่าหากระบาดหนักและยาวนาน อาจเกิดผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานเรื่องนี้ได้

สำหรับประชาชนอย่างพวกเราทุกคน ควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท เตรียมตัว เตรียมงาน เตรียมของที่จำเป็นเผื่อเวลาเจ็บป่วยไม่สบาย เตรียมสถานที่ภายในบ้าน และมีกำลังใจในการป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด มุ่งเป้าอย่าให้ตัวเองและครอบครัวติดเชื้อ ใครที่ยังต้องไปทำงาน อาจต้องช่วยกันทบทวนระบบงานกันอีกครั้ง ทำอย่างไรให้ใช้เวลาให้น้อยลงกว่าเดิม เจอคนน้อยกว่าเดิม มีคนในที่ทำงานแต่ละวันน้อยลงไปกว่าเดิม และ คัดกรองตรวจสอบไถ่ถามเรื่องอาการไม่สบายและความเสี่ยงต่างๆ ให้เข้มข้นกว่าเดิม รวมถึงหากทำการตรวจคัดกรองโรคด้วยวิธีต่างๆ ที่เหมาะสมกับกิจการอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อในที่ทำงานไปได้อีกมาก

เป็นกำลังใจให้ทุกคน

ด้วยรักและห่วงใย