สถาบันทิศทางไทย ไขปม งบฯ สถาบัน ชี้ ราชสกุลมหิดล ทุ่มเททำงานเพื่อพสกนิกร

130

นักวิชาการสถาบันทิศทางไทย ไขข้อสงสัย เรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ ของหน่วยราชการ ในสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย โดยเฉพาะ “ราชสกุลมหิดล” 8,700 ล้านบาท ที่ผ่านมาทำงานเพื่อคนไทยทั้งประเทศ ตั้งแต่ ร.8-ร.9-ร.10

วันที่ 4 ก.ย. 2564 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รก.หน.พรรคไทยภักดี เผยแพร่คลิปวีดีโอผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Warong Dechgitvigrom” เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยเป็นคลิปที่ ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ นักวิชาการสถาบันทิศทางไทย ได้ให้ข้อมูลในหัวข้อ “ไขข้อสงสัย หน่วยราชการในพระองค์ “เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่ง ผศ.ดร.อานนท์ เห็นว่ามีข้อมูลหลายอย่างบิดเบือนไปจากความเป็นจริง

โดยระบุว่า การบิดเบือนเช่นนื้ทำให้สังคมเกิดความวุ่นวาย เป็นการด้อยค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ และอาจนำไปสู่การเกลียดชังและล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตนจึงขอชี้แจงดังต่อไปนี้ 1.ประเด็นข้อสังเกตกรณีหน่วยราชการในพระองค์ มีเจ้าหน้าที่ 14,500 คน ใช้งบประมาณปีล่าสุด 8,700 ล้านบาท เพื่อรับใช้เจ้านายเพียง 1 ครอบครัว ข้อมูลนี้ถูกต้อง โดยแบ่งเป็น 3 หน่วยงาน คือสำนักพระราชวัง สำนักงานองคมนตรี และหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์อย่างไรก็ตาม 1 ครอบครัวนี้ คือ ราชสกุลมหิดล ได้ทำงานเพื่อคนไทยทั้งประเทศ มาตั้งแต่รัชกาลที่ 8-รัชกาลที่ 10 โดยเฉพาะรัชกาลที่ 9 ทำงานมาตลอด 70 ปีอย่างทุ่มเทจนถึงช่วงสุดท้ายของพระชนม์ชีพ ซึ่งการเป็นพระเจ้าแผ่นดินนั้นไม่ได้เป็นเพื่อความสุขสบายไม่ต้องทำงาน ตัวอย่างหนึ่งคือการทำหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ โดยมีรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ซึ่งข้อราชการที่ระบุว่า ต้องนำขึ้นกราบบังคมทูลให้พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธย ก็จะต้องผ่านขั้นตอนการกลั่นกรองโดยหน่วยราชการในพระองค์ เช่น ร่างกฎหมายต่างๆ ที่ผ่านขั้นตอนการพิจารณาจากรัฐสภา พระมหากษัตริย์อาจยับยั้งร่างกฎหมายนั้นโดยไม่ลงพระปรมาภิไธยในทันที โดยในสมัยรัชกาลที่ 9 เคยมีกรณีร่างกฎหมายเขียนสะกดคำผิดๆ ถูกๆ ตกหล่นไม่ถูกต้องตามพจนานุกรม ซึ่งท่านอ่านอย่างละเอียดทุกบรรทัดและยังไม่ลงพระปรมาภิไธย เพราะเห็นว่ากฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ“การแต่งตั้งในอำนาจบริหาร ถ้ามีข้าราชการที่มีคนถวายฎีกา มีเรื่องร้องเรียน มีคดีความ ก็จะมีคนกลั่นกรองยับยั้ง ไม่เอาของที่ไม่บริสุทธิ์ไม่บังควรขึ้นไปทูลเกล้าฯ ให้ลงพระปรมาภิไธย อย่างนี้เป็นต้น นี่เป็นส่วนของการบริหารราชการแผ่นดิน อย่างเช่นงานของทุกกระทรวง ทบวง กรม สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ศาลต่างๆ สุดท้ายก็ต้องกราบบังคมทูลพระกรุณา ก็เป็นภาระอันใหญ่หลวงเหมือนกันในการบริหารราชการแผ่นดิน” ผศ.ดร.อานนท์ กล่าว และว่า

ยังมีงานที่เป็นราชการส่วนพระองค์ ที่มีหน่วยงานภายนอก เช่น ภาคเอกชน ไปจนถึงประชาชน ขอพระราชทานพระกรุณาเนื่องในโอกาสต่างๆ เช่น เชิญเสด็จฯ ขอเข้าเฝ้าฯ ขอรับพระราชทานความช่วยเหลือ หรือ มีการถวายฎีกา หน่วยราชการในพระองค์ก็จะมีหน้าที่ตรวจสอบก่อนนำความขึ้นกราบบังคมทูล ซึ่งก็แล้วแต่ว่าจะทูลพระเจ้าอยู่หัว พระราชินี หรือพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นๆ ทั้งนี้ พระมหากษัจริย์มีพระราชภารกิจ 5 ด้าน ได้แก่1.รัฐพิธี หรือการบริหารราชการแผ่นดิน เช่นการลงพระปรมาภิไธย กรณีมีการร่างรัฐธรรมนูญ ร่างกฎหมายพระราชบัญญัติ การแต่งตั้งและให้พ้นจากตำแหน่งของรัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูง เสด็จฯ เปิดประชุมรัฐสภา รับถวายสาส์นตราตั้งอันเป็นธรรมเนียมทางการทูตที่เอกอัครราชทูตจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกต้องปฏิบัติก่อนมารับตำแหน่งในประเทศไทย หรือหากเป็นกงสุลก็จะเรียกว่าพิธีถวายหนังสือตราตั้ง การพระราชทานอภัยโทษผู้ต้องขัง เป็นต้น

2.พระราชพิธี เช่น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร การบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพุทธศาสนา เป็นต้น ซึ่งอาจเสด็จฯ ด้วยพระองค์เอง หรือให้เจ้านายพระองค์อื่น หรือส่วนราชการดำเนินการแทนพระองค์

3.งานองค์มนตรี ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้แทนพระองค์ วางพานพุ่มสักการะ วางพวงมาลา การมอบรางวัลพระราชทานต่างๆ เป็นต้น 4.มูลนิธิหรือโครงการต่างๆ เช่น มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ มูลนิธิอานันทมหิดล มูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิพระดาบส ตลอดจนโครงการพระราชดำริ ที่มีกว่า 4,000 โครงการในสมัยรัชกาลที่ 9 หรือมูลนิธิการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) ทีเริ่มมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 10 ดำรงพระอิศริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร รวมถึงโครงการจิตอาสาพระราชทาน 904 ในสมัยรัชกาลที่ 10 เป็นต้น และ 5.งานอื่น เช่น พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย พระราชทานกระบี่แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหาร-ตำรวจ รวมถึงการรับฎีกาจากประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ

“งานต่างๆ ต้องผ่านหน่วยราชการในพระองค์ทั้งสิ้น ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรที่หน่วยงานในพระองค์จะมีคนถึง 14,500 คน อย่างหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ก็มาทำเรื่องของจิตอาสาพระราชทาน 904 ด้วย ซึ่งก็ไปทำงานช่วยเหลือประชาชน ที่เราเห็นรถชีวนิรภัยพระราชทานไปตรวจโควิดก็มาจากตรงนี้ งบประมาณ 8,700 ล้านบาท คน 14,500 คน รับใช้ 1 ครอบครัวจริง แต่เป็น 1 ครอบครัวที่ทำงานเพื่อคนทั้ง 67 ล้านคน มาตั้งแต่รัชกาลที่ 8 รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ก็อยากจะให้เข้าใจกันให้ถูกต้องว่าเงินจำนวนนี้ไม่ได้มากเพื่อเทียบกับภารกิจที่ต้องทรงแบกรับไว้” ผศ.ดร.อานนท์ กล่าวทิ้งท้าย