“สัณหพจน์” ส.ส.พปชร. “เมืองคอน” ฉะยับ 2 รมต.พรรคร่วมรบ. ไร้น้ำยา แก้ของแพง

68

“สัณหพจน์ สุขศรีเมือง” ส.ส.เมืองคอน พปชร. ซัดพรรคร่วมรัฐบาล ปล่อยสินค้าอุปโภคบริโภคทยอยขึ้นราคา ฉะยับผู้บริหาร 2 กระทรวงหลักไร้ฝีมือ แก้ของแพง

วันที่ 10 ม.ค. 2565 นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส. เขต 2 จ.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ราคาเนื้อหมูแพงขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากการเกิดโรคระบาดในสุกร ที่ถูกปล่อยปละละเลยไม่ได้รับการแก้ไขมากกว่า 2 ปี จนกระทบทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยต้องขาดทุนเลิกเลี้ยงเหลือเพียงผู้เลี้ยงรายใหญ่ไม่กี่ราย สำหรับผลกระทบดังกล่าว ส่งผลให้ประชาชนต้องเป็นผู้แบกรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น ด้านกระทรวงที่รับผิดชอบโดยตรงกลับเสนอวิธีแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ทั้งโครงการเนื้อหมูราคาถูก และไล่ตรวจฟาร์มสุกร ทั้งที่อาจทราบข้อมูลการระบาดของโรคมากกว่า 2 ปีแล้ว

ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา เป็นนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล ได้ใช้กลไกการบริหารผ่านกระทรวงการคลัง กำหนดนโยบายลดค่าครองชีพให้กับประชาชน และฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านโครงการ “คนละครึ่ง” ทั้ง 3 ระยะ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศเกินกว่า 2.23 แสนล้านบาท โดยรัฐได้ช่วยเหลือประชาชนลดค่าครองชีพผ่านการใช้จ่ายในโครงการถึงกว่า 1.09 แสนล้านบาท

ด้านกระทรวงแรงงานได้ช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤตโควิด-19 ผ่านสำนักงานประกันสังคม เป็นเงินเยียวยาผู้ประกันตน ม.33 ม.39 และม.40 ใน 29 จังหวัด กว่า 12 ล้านคน เป็นเงินกว่า 8.87 หมื่นล้านบาท นายจ้างและผู้ประกอบการกว่า 165,000 ราย เป็นเงินกว่า 1.27 หมื่นล้านบาท ทำให้เกิดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกกว่า 1 แสนล้านบาท เช่นเดียวกับกระทรวงศึกษาธิการ ที่ช่วยเหลือแบ่งเบาลดภาระของผู้ปกครองนักเรียนกว่า 11 ล้านคน เป็นงบประมาณกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท

“ผมทราบว่ามีกลุ่มการเมืองเก่าแก่กลุ่มหนึ่ง และผู้ต้องหาคดีอาญา ออกมากล่าวอ้างถึงพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลว่าไม่สามารถบริหารเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้ และไม่สามารถทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ ต้องชี้แจงว่าที่ผ่านมาพรรคพลังประชารัฐ ได้ประนีประนอม ให้โอกาส และความเชื่อมั่นในการบริหารกระทรวงที่เป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจประเทศ กับกลุ่มพรรคการเมืองนี้ แต่กลับพบความล้มเหลวทางการบริหาร ไม่สามารถทำงานได้ตามเป้าหมาย ใช้กลไกที่เอื้อต่อนายทุนรายใหญ่ เช่น กรณีหมูแพง ซึ่งเกษตรกรรายย่อยไม่ได้รับประโยชน์ เพราะขาดทุนจากโรคระบาดและค่าอาหารสัตว์จนต้องเลิกเลี้ยง ที่ผ่านมาแม้จะมีการกล่าวอ้างว่าสินค้าเกษตรอย่าง ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพด มีราคาสูงขึ้น แต่ความเป็นจริงเกษตรกรรายย่อยไม่ได้รับประโยชน์ เพราะต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าปุ๋ยที่แพงขึ้น ทำให้ทุกวันนี้มีเฉพาะรายใหญ่เท่านั้นที่ได้ประโยชน์” นายสัณหพจน์ ระบุ

ล่าสุดวันนี้ สมาคมการค้าผู้ค้าไข่ไก่ไทย แจ้งปรับขึ้นราคาไข่ไก่ อีกฟองละ 20 ส.ต. หรือ 6 บาทต่อแผง เช่นเดียวกับราคาอาหารสัตว์ซึ่งมีแนวโน้มปรับขึ้นอีก 6-9 บาทต่อกิโลกรัม จะเห็นได้ว่าผู้บริหาร 2 กระทรวงหลักที่มีหน้าที่ดูแลสินค้าเกษตรไร้ประสิทธิภาพในการทำงาน และส่งผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรที่มีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เช่นเดียวกับพี่น้องประชาชนที่ต้องแบกรับค่าครองชีพสูงขึ้นด้วย