บ้านเกิดท่านพุทธทาสภิกขุ จุดเริ่มต้นแห่งธรรม

บ้านเกิดท่านพุทธทาสภิกขุ ร้านขายของชำ จุดเริ่มต้นของการถกเถียงธรรม จสกลูกชาวจีนอพยพที่สู่พระที่รู้แจ้ง รู้จริง

บ้านเกิดของท่านพุทธทาส เป็นบ้านไม้ 2 ชั้น มี 2 คูหาติดกัน เดิมยกพื้นสูงพื้นบ้านเป็นพื้นไม้ ประตูเป็นบานแบบหน้าถัง ตั้งอยู่ใจกลางชุมชนย่านเมืองเก่า ไกล้วัดโพธารม ปัจจุบันอาคารไม้หลังนี้ ยังมีสภาพสมบูรณ์ โดยลูกหลานของท่านยังใช้พักอาศัยอยู่ตามปกติ

นายเซี้ยง และนางเคลื่อน พานิช มีอาชีพค้าขาย มีบุตร 3 คน ได้แก่ ท่านพุทธทาสภิกขุ เป็นคนโต นายยี่เก้ย พานิช เป็นคนกลาง และกิมซ้อย พานิช ภายหลังแต่งงานไปอยู่บ้านดอน (ที่ตั้ง อ.เมืองสุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน) และใช้นามสกุลสามี เหมะกุล

บิดาของท่านพุทธทาสภิกขุ ประกอบอาชีพหลักคือการค้าขายของชำ เป็นคนไทยเชื้อสายจีน เนื่องจากปู่ของท่านพุทธทาสภิกขุอพยพจากมณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน มาเป็นช่างเขียนภาพสีบนกระจกที่เมืองไชยา ย่าของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อส้มจีน ซึ่งเชื้อสายของย่าอพยพจากอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มาอยู่เมืองไชยาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เดิมบิดาของท่านพุทธทาสภิกขุใช้แซ่โข่วหรือข่อ (หรือโค้ว ในภาษาแต้จิ๋ว) ต่อมาเมื่อมีพระราชบัญญัตินามสกุลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางราชการจึงเปลี่ยนนามสกุลของบิดาท่านเป็น พานิช เพราะตอนนั้นมีเพียงครอบครัวของท่านเท่านั้นที่ทำการค้าขาย

จากบันทึกของ กรุณพล พานิช เล่าว่า ไชยาพานิช เป็นร้านค้าเก่าแก่ของเมืองไชยา เปิดทำการค้ามาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยชาวจีนแซ่โค้ว ที่มาตั้งรกรากอยู่ในพุมเรียง และเป็นต้นตระกูล “พานิช” ของท่านพุทธทาส อิทปัญโญ (เงื่อม พานิช)

ท่านพุทธทาสบันทึกไว้ว่า สมัยที่บิดาของท่านดูแลร้าน โดยมีท่านเป็นผู้ช่วยนั้น ร้านไชยาพานิชมี 2ร้าน คือร้านแรกอยู่ที่พุมเรียง ตัวท่านเป็นผู้ดูแล ส่วนร้านที่ 2 ตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟไชยาในตัวอำเภอไชยา บิดาท่านเป็นผู้ดูแล ร้านค้าแห่งนี้บิดาเปิดเมื่อเส้นทางรถไฟสายใต้ตัดผ่าน ภายในร้านทั้งสองขายสินค้าข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ พวกถ้วยชาม เกลือ รวมถึงรับซื้อและแลกซื้อข้าวเปลือก ข้าวสาร โดยข้าว 1 ส่วนสามารถแลกเกลือได้ 3 ส่วน ชาวบ้านที่ทำนาจะนำข้าวซ้อมมือที่ใช้ครกตำ บรรจุถุงหรือเทินบนหัวจากบ้านทุ่ง บ้านเลม็ด มาขายที่ร้าน นอกจากนี้ร้านไชยาพานิช ยังทำหน้าที่คล้ายธนาคาร คือ มีการรับฝากเงินและให้กู้ยืมเงิน โดยมารดาจะเป็นผู้ดูแลกิจการดังกล่าว ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่ของทางร้านก็มาจากการให้กู้ยืมเงินนี่เอง
ในปี พ.ศ. 2465 เมื่อท่านอายุราว 15-16 ปี บิดาได้เสียชีวิตด้วยโรคลมปัจจุบัน ท่านต้องลาออกจากโรงเรียนมาเป็นผู้จัดการร้านแทนบิดา และต้องปิดร้านในตัวเมืองไชยาให้เหลือเพียงร้านเดียว บรรยากาศของร้านที่พุมเรียง นอกจากซื้อขายตามปรกติแล้ว ที่นี่ยังเป็นเวทีของวงเสวนาพูดคุยของผู้ชอบการศึกษามาถกเถียงหาความรู้โดยเฉพาะเรื่องธรรมะเนื่องจากนิสัยท่านพุทธทาสเป็นนักอ่านหนังสือและชอบพูดคุยธรรมะ ประกอบกับเวลานั้นวงการศาสนาท้องถิ่นในพุมเรียงกำลังตื่นเต้นกับการศึกษานักธรรมซึ่งเป็นการศึกษาธรรมะแบบใหม่ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงดำริให้มีขึ้น


ท่านพุทธทาสภิกขุจึงค้นคว้าหาหนังสือนักธรรมตรี โท เอก รวมทั้งหนังสือพระอภิธรรมมาอ่าน แล้วอาศัยบ้านของตนเองเป็นเวทีสังกัจฉา คอยพูดคุยตอบโต้ปัญหาธรรมะกับผู้อื่นในละแวกเดียวกัน อีกทั้งมารดาของท่านก็สนับสนุนลงทุนซื้อหนังสือมาเพื่อให้บริการกับผู้ที่มาดื่มชากาแฟในร้านได้อ่านกัน วงสนทนาที่ร้านแห่งนี้จึงคึกคักยิ่ง แม้ท่านพุทธทาสเวลานั้นยังมีอายุน้อย แต่ก็เชี่ยวชาญและฉะฉานในข้อธรรมะ จนผู้ที่มาคุยด้วยต่างยอมรับในเรื่องนี้ ท่านพุทธทาสภิกขุได้เคยบันทึกถึงเรื่องนี้ไว้ว่า
“เรื่องคุยธรรมะนี่ ผมทำตัวเป็นอาจารย์ธรรมะกลายๆ ตอนเช้ามีคนมาคุยธรรมะ เราต้องโต้…ต้องสู้ข้อธรรมต่างๆ มีข้าราชการคนหนึ่งเขาอยู่อาศัยแถบใกล้ๆ ร้าน ต้องเดินผ่านที่ร้านเพื่อไปทำงาน ญาติๆ เราแถวนั้น ถ้าเห็นตาคนนี้มา มักจะมาคอยดักเย้าธรรมะกัน กว่าแกจะหลุดไปทำงานได้ก็เป็นชั่วโมง นอกจากนี้ก็ยังมีคนอื่น ๆ อีกที่มาพูดคุยที่บ้าน
“ผมต้องซื้อหนังสือนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก อภิธรรมอะไรนี่มาอ่าน ตอนนั้นยังเป็นเด็กกว่าเขาเพื่อน ส่วนใหญ่ที่มาสนทนาเขาคนแก่ทั้งนั้น แต่เรามักพูดได้ถูกกว่า เพราะเรามีหนังสืออ่าน เขามันพูดตามข้อสันนิษฐาน มันก็สนุกกับการได้พูดให้คนอื่นฟัง ถ้าว่ากันถึงการเรียนธรรมะนี่ มันเรียนมาก่อนบวชแล้ว เมื่อบวชก็เกือบจะไม่ต้องเรียนอีกแล้ว ขนาดนักธรรมตรี แทบจะไม่ต้องเรียน เพราะเคยอ่าน เคยโต้กันมาก่อน”

เมื่อท่านพุทธทาสอายุครบที่จะบวช (พ.ศ. 2469) และมีความประสงค์ว่าจะไม่สึก ทำให้ท่านธรรมทาส (ยี่เก้ย) น้องชายของท่านซึ่งขณะนั้นกำลังศึกษาเตรียมแพทย์ปี 1 ต้องลาออกเพื่อกลับมาช่วยงานที่ร้านและให้พี่ชายได้บวชตามความตั้งใจ ร้านไชยาพานิช ดำเนินและขยายกิจการต่อเรื่อยมา มีการขายของประเภทต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยาที่ใช้ประจำบ้าน เครื่องเขียนแบบเรียน เครื่องแต่งกาย และผ้าพื้นเมือง ตลอดจนรับส่งของจากห้างต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ รวมถึงเปิดเป็นร้านถ่ายรูปร้านแรกขึ้นในเมืองไชยาอีกด้วย

ร้านไชยาพานิชในสมัยท่านธรรมทาสเป็นผู้ดูแล ถือเป็นจุดเริ่มต้นของคณะธรรมทาน เนื่องจากท่านได้ตั้งกล่องหนังสือเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้มายืมไปอ่าน และได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง จึงมีการตั้งคณะธรรมทานขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแผ่ธรรมและรวบรวมหนังสือธรรมะต่างๆ เพื่อเปิดให้มีการสมัครสมาชิก รายได้ทั้งหมดจะถูกนำกลับมาซื้อหนังสือเพื่อให้บริการในสโมสรธรรมทาน

ร้านไชยาพานิชปิดตัวลงในปี 2475 เมื่อท่านธรรมทาสได้ตั้งคณะธรรมทานและธรรมทานมูลนิธิขึ้นที่อำเภอไชยา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเผยแผ่ธรรม ตลอดจนมีการตั้งโรงพิมพ์ธรรมทาน เพื่อการพิมพ์เผยแพร่งานของท่านพุทธทาสขึ้นที่นี่ด้วย

กรุณพล พานิช https://www.facebook.com/chaiyaphanich/

โครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพพื้นที่ 3 แหลม ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรม พื้นที่ 3 แหลม ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา
บริการวิชาการคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
อาจารย์ธิติพานวัน สาขาวิชานวัตกรรมสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

กลุ่มพุมเรียงเมืองเก่า