ม.อ.ปัตตานี ร่วมมูลนิธิเกาหลี จัดสัมมนาวิชาการให้แก่ครูผู้สอนเกาหลีศึกษา

64

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มอ.ปัตตานี ร่วมกับมูลนิธิเกาหลี เชิญเอกอัครราชทูตเกาหลีประจำประเทศไทย เปิดเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการเกาหลีศึกษา ให้นักวิชาการ ผู้สอนภาษาเกาหลีระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

ผศ.ดร.เชิดชัย อุดมพันธ์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) กล่าวว่า ได้ร่วมกับมูลนิธิเกาหลี และ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี ประจำประเทศไทย จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเกาหลีศึกษา ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2565 ณ โรงแรมมณเฑียรริเวอร์ไซด์ กรุงเทพ ฯ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนทางวิชาการทางด้านเกาหลีศึกษา ตลอดจนร่วมกันหาแนวในการพัฒนาการศึกษาภาษาเกาหลีในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาในประเทศไทย โดยมี นายมุน ซึง ฮยอน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย เป็นประธานและกล่าวต้อนรับ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนารวมทั้งสิ้น 60 คน แบ่งออกเป็นผู้เข้าร่วมในรูปแบบ onsite 30 คน และรูปแบบ online 30 คน ประกอบด้วยครูผู้สอนระดับมัธยมศึกษาในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และจากทุกภูมิภาค

สาระสำคัญของการสัมมนาประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษ การส่งเสริมการศึกษาเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ไทย-สาธารณรัฐเกาหลี โดยคุณตวง อินทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการ การศึกษาวุฒิสภา การสัมมนาหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ เรื่อง กิมจิ , กีฬาเทควันโดในประเทศไทย , การต่างประเทศของเกาหลีใต้ในยุคสาธารณรัฐที่ 20 , สำรวจเสน่ห์ของเมืองประวัติศาสตร์ : วิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างกรุงโซลและเมืองเชียงใหม่ , วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงการค้าและการลงทุนไทย-เกาหลีจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 , วิเคราะห์ทัศนคติและพฤติกรรมของชาวเกาหลีที่ปรากฏในสื่อต่างๆ และผลงานศิลปวัฒนธรรม , สถาการณ์วิจัยด้านภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษา : ภาพสะท้อนการจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีในระดับมัธยมศึกษาของประเทศไทย , การวิจัยในชั้นเรียน , การทำวิจัยเพื่อพัฒนาเกาหลีศึกษาในระดับโรงเรียนมัธยมศึกษา

ผศ.ดร.เชิดชัย อุดมพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสอนภาษาเกาหลีในสถานศึกษาที่ดำเนินมาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2529 จวบจนปัจจุบันได้เพิ่มมากขึ้นในทุกภูมิภาค มีจุดเริ่มต้นที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาจำนวนกว่า 21 สถาบัน และสถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษาอีกกว่า 71 แห่ง เปิดสอนภาษาเกาหลีเป็นวิชาเอกหรือวิชาเลือก จากความต้องการเรียนรู้ภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษาเป็นไปอย่างรวดเร็วและเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้เกิดภาวะขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษาในหลายสถาบัน และยังมีความขาดแคลนแหล่งข้อมูลข่าวสารและสื่อที่จำเป็นต่อการสอนภาษาเกาหลี ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขรวมไปถึงการสร้างระบบที่เชื่อมโยงมหาวิทยาลัยที่สอนภาษาเกาหลี กับโรงเรียนมัธยมศึกษาถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อการพัฒนาเกาหลีศึกษาของไทยในอนาคต

ยิ่งไปกว่านั้นความจำเป็นของการพัฒนาและนำพาประเทศไทยให้ทันสมัย จากปัจจัยต่างๆ เป็นสาเหตุที่ทำให้การเรียนรู้ภาษาเกาหลีเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาและพัฒนาตนเองของบุคลากรสายวิชาการและวิชาชีพในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากสาธารณรัฐเกาหลีเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งยังมีความโดดเด่นและเข้มแข็งในการใช้ soft power จากวัฒนธรรมมาสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ดังนั้นการทำความรู้จักและเข้าใจสาธารณรัฐเกาหลีจึงน่าจะเป็นกลไกสำคัญหนึ่งที่จะยกระดับการพัฒนาของประเทศไปสู่เป้าหมายได้รวดเร็วขึ้น เพราะภาษาเกาหลีไม่เพียงอยู่ในฐานะภาษาเศรษฐกิจของไทยเท่านั้น แต่ยังมีฐานะเป็นเครื่องมือหรือกุญแจสำคัญสู่การเรียนรู้เทคโนโลยีและวิทยาการต่างๆ อีกด้วย