“ใครเป็นใคร” ใน “รทสช.” ลมใต้ปีก ดัน “บิ๊กตู่” ผงาดขึ้นเก้าอี้นายกฯอีกรอบ !!!

221

เปิดขุมกำลัง บุคคลทางการเมืองในพรรค “รวมไทยสร้างชาติ” ที่ผนึกกำลัง รวมตัว เตรียมพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง โดยมีเป้าหมาย อันเป็นภารกิจสำคัญ ผลักดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผงาดขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ใครเป็นใครบ้าง มีสถานะ ศักยภาพ อย่างไร เป็นเรื่องที่น่าสนใจติดตาม..

พรรครวมไทยสร้างชาติ จัดการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรค รทสช. ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2566 และเป็นวันที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัครเป็นสมาชิกพรรค ตามมาด้วยสัญญาณทางการเมืองอีกมากมาย เป็นสัญญาณของสมรภูมิการเมืองที่กำลังเข้มข้น ก่อนการเลือกตั้ง ที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ถูกจับตามาตั้งแต่ปี 2565 ว่า จะเป็นนั่งร้านใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และยังถูกจับตาอีกแง่มุม จากการรวมตัวของ 3 ต. คือ ตู่, ตุ๋ย (ชื่อเล่นพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) และ ไตรรงค์ สุวรรณคีรี

ย้อนไปวันที่ “พล.อ.ประยุทธ์” พูดคำว่า “รวมไทยสร้างชาติ” กลายเป็นคำที่ใช่จากคนที่ชอบของนักการเมือง 2 คน คือ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และ “แรมโบ้อีสาน” เสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
“ผมฟังแล้วชอบนะ ใช่ ร่วมมือประสานกัน ไม่ว่าจะตัวใหญ่ตัวเล็ก ถ้าร่วมมือร่วมใจกันสร้างชาติ ก็สร้างชาติได้..แต่อยู่ดี ๆ ก็มีคนไปจดทะเบียนตั้งพรรค ซึ่งคนนั้นคือคุณเสกสกล”

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค รทสช. บอกเล่าที่มาของชื่อพรรค โดยมีตัวละครที่ปรากฏชัดเจน นอกเหนือจากตัวเขาเองแล้ว ยังมี เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตแกนนำ กปปส. นั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรค

แน่นอนว่า อีกบุคคลที่มีเส้นทางน่าสนใจ คือ เสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตคนเสื้อแดง ซึ่งหันมาประกาศเป็น “คนรักลุงตู่” อย่างชัดเจน และสำหรับคอการเมือง ชื่อ “เสกสกล” เจ้าของฉายา “แรมโบ้อีสาน” โด่งดังทีเดียว เดิมทีแล้วเขาเป็นองครักษ์พิทักษ์ “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นคนเสื้อแดงสาย “ฮาร์ดคอร์” ก่อนแปรผันมาสู่ขุนพลคู่ใจ “พล.อ.ประยุทธ์” ในสถานะเป็น “ลูกย่าโม” คนเมืองโคราชด้วยกันก่อนหน้านี้ “แรมโบ้อีสาน” ลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เมื่อต้นปี 2565 และเขายังเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้ง พรรครวมไทยสร้างชาติ แต่ก็ลาออกจากพรรค รทสช. กลับไปอยู่พรรคพลังประชารัฐอีกครั้ง

“แรมโบ้อีสาน” ลาออกจากพลังประชารัฐอีกครั้ง ในขณะที่อยู่ระหว่างกำลังปั้น “พรรคเทิดไท” คู่ขนานกับภารกิจจัดตั้งหมู่บ้านเทิดไท้องค์ราชัน ร่วมกับ อานนท์ แสนน่าน อดีตผู้ก่อตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงคนแรกในประเทศไทย

ถัดจากนั้นมา “แรมโบ้อีสาน” ลาออกจากพรรคเทิดไท และได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในวันที่ 9 ม.ค.2566 ก่อนหน้า พล.อ. ประยุทธ์ จะไปสมัครร่วมพรรค รทสช. ไม่กี่ชั่วโมง จึงเป็นที่จับตาว่า เขาจะเป็นอีกหนึ่งกำลังของพรรค รทสช. ในการเก็บคะแนนเสียงในถิ่นภาคอีสาน

สำหรับ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” อดีตผู้พิพากษา และอดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คู่ปรับคนสำคัญของ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” ในฐานะที่ “พีระพันธุ์” เคยสมัครท้าชิงตำแหน่งหน้าพรรค ปชป. แต่พ่ายคะแนนโหวตให้กับ “จุรินทร์” ก่อนจะลาออกจากพรรค ปชป. และไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และได้รับแต่งตั้งจาก “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

วันนี้ “พีระพันธุ์” เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนพรรครวมไทยสร้างชาติ แม้ว่าจะไม่มีประสบการณ์การบริหารพรรคการเมืองมากนัก แต่ก็มีคอนเนกชั่นในหลายแวดวง “พีระพันธุ์” เป็นลูกชาย พล.ท.ณรงค์ สาลีรัฐวิภาค อดีตเจ้ากรมการพลังงานทหาร ผู้ริ่เริ่มการขุดเจาะน้ำมันที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และก่อตั้งสถานีบริการน้ำมันสามทหาร

เนื่องจากเขาจบจาก โรงเรียนเซนต์คาเบรียล จึงเต็มไปด้วยเพื่อนพ้องน้องพี่ในนาม “ซ.ค.คอนเนกชั่น” โดยมี “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. และปัจจุบัน รองเลขาพระราชวัง ระดับ 11 สำนักพระราชวัง เป็นเพื่อนกับ “พีระพันธุ์” มาตั้งแต่สมัยเรียนเซนต์คาเบรียล

คนหนึ่งไปเรียนนายร้อย จปร. เติบโตบนเส้นทางเหล็ก ได้เป็น ผบ.ทบ. อีกคนหนึ่งไปเรียนกฎหมายที่ต่างประเทศ เป็นผู้พิพากษา และนักการเมือง ซึ่งทั้งคู่ยังเป็นเพื่อนรักกันเหมือนเดิม ถือเป็นความสัมพันธุ์อัน “แนบแน่น”

จุดเปลี่ยนในชีวิตของพีระพันธุ์ จากข้าราชการตุลาการสู่ถนนการเมือง เมื่อ นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ รุ่นพี่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ชวนให้เข้าพรรคประชาธิปัตย์ ลงสมัคร ส.ส.กทม.ครั้งแรกปี 2535 พ่ายกระแส “มหาจำลอง” พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แต่ภายหลัง พีระพันธุ์ ก็ได้เป็น ส.ส.กทม. , ส.ส. บัญชีรายชื่อ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในสมัยรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

ย้อนกลับไป ตอนนั้น เสกสกล อัตถาวงศ์ ได้พูดจากับ “พีระพันธุ์” เสนอให้เอาพรรครวมไทยสร้างชาติไปทำต่อ “ตอนแรกก็ไม่คิดอะไร แต่เวลาผ่านไปสักระยะ ผมมีความคิดว่าอยากมีพรรคแบบนี้ อยากทำสักครั้ง สุดท้ายเลยขอท่านแรมโบ้มาทำ”

ทอดเวลาดูสถานการณ์มาสักระยะ จึงมีการประชุมใหญ่วิสามัญพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่สโมสรราชพฤกษ์ ถ.วิภาวดีรังสิต เพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยการนำของ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค และเอกณัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิกาพรรค

วันที่ 9 พ.ย. 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่งตั้ง ไตรรงค์ สุวรรณคีรี เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี หลังจาก “ไตรรงค์” ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อปลายเดือน ต.ค.2565โดยก่อนหน้านี้ “ไตรรงค์” ได้ส่งลูกสาว “รัดเกล้า สุวรรณคีรี” เข้าไปร่วมงานกับพรรค รทสช. ตั้งแต่แรก

หลังการประชุมเอเปค 2022 ข่าวลือเรื่องการแยกทางกันเดินของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็กลายเป็นความจริง จึงเกิดแรงกระเพื่อมภายในพรรคพลังประชารัฐ

“สุชาติ ชมกลิ่น” รัฐมนตรีแรงงาน และ ส.ส.ชลบุรี เจ้าของฉายา “นักเลงเมืองชล” พร้อม ส.ส.พลังประชารัฐกลุ่มหนึ่ง แสดงตัวอย่างเปิดเผยว่า จะเดินตาม พล.อ.ประยุทธ์ ไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ

สำหรับ “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น เติบโตมาในครอบครัวยากจน พ่อมีอาชีพรับจ้างทั่วไป แม่ขายขนมครก อยู่หน้าตลาดหนองมน อ.เมือง จ.ชลบุรี ช่วงวัยหนุ่ม “เสี่ยเฮ้ง” เคยยึดอาชีพจับกังแบกน้ำตาล แบกข้าวสารอยู่ท่าเรืออ่าวไทย 7 ปี

เมื่อเรียนจบปริญญาตรี มาเป็นเซลล์ขายบ้าน เงินเดือน 5,500 บาท ที่หมู่บ้านแคลิฟอร์เนีย เจ้าของหมู่บ้าน คือ “สนธยา คุณปลื้ม” ลูกชาย “กำนันเป๊าะ” เจ้าพ่อเมืองชล สมชาย คุณปลื้ม

จังหวะชีวิตลูกน้ำเค็ม “เสี่ยเฮ้ง” แต่งงานกับ วิมลจิต อรินทมะพงษ์ ทายาทร้านทอง 99 กะรัต ตลาดหนองมน จ.ชลบุรี ซึ่งทั้งคู่ได้ร่วมกันทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในนามบริษัท อรินสิริแลนด์ จำกัด (มหาชน)
จากความสำเร็จในถนนสายธุรกิจอสังหาฯ สุชาติ ชมกลิ่น ได้รับการสนับสนุนจาก “กำนันเป๊าะ” ให้ก้าวสู่การเมืองท้องถิ่น เป็นสมาชิก อบจ.ชลบุรี เขต อ.เมืองชลบุรี

การเลือกตั้ง ส.ส.ชลบุรี ปี 2554 สุชาติ ชมกลิ่น ลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคพลังชลของตระกูลคุณปลื้ม และได้เป็น ส.ส.ชลบุรี สมัยแรก แต่การเลือกตั้งปี 2562 “เสี่ยเฮ้ง” ย้ายมาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ

สุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี 2 สมัย ได้รับแรงหนุนจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก้าวขึ้นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ทำให้ “เสี่ยเฮ้ง” บารมีเบ่งบานในชลบุรี ถึงขั้นประกาศตั้งตัวเป็น “กลุ่มบ้านใหม่ชลบุรี” แยกตัวออกมาจาก “บ้านใหญ่กำนันเป๊าะ” กลายเป็นความบาดหมาง ระหว่าง “เสี่ยเฮ้ง” กับ สนธยา คุณปลื้ม มาจนถึงทุกวันนี้ โดยในทางการเมือง กลุ่มของ “สนธยา” แสดงจุดยืนไปรวมกับพรรคเพื่อไทย ประกาศจะโค่น “เสี่ยเฮ้ง” ให้ได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

เมื่อ “เสี่ยเฮ้ง” แสดงจุดยืนในฐานะ “นักเลงเมืองชล” ไปไหนไปด้วยกัน จะไม่ยอมทิ้งให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ลุยสมรภูมิเลือกตั้งตามลำพัง พรรครวมไทยสร้างชาติ จึงมีสถานะไม่ต่างจากพรรคเฉพาะกิจ เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ สมัยที่ 3อีกคนหนึ่ง คือ “ชุมพล กาญจนะ” อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ มหาเศรษฐีเจ้าสัวเมืองปักษ์ใต้ เจ้าของธุรกิจพันล้าน ที่มาสมทบในพรรค รทสช. ชื่อของ “ชุมพล กาญจนะ” ตกเป็นข่าวใหญ่เกรียวกราว เมื่อ “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา ระบุว่า มีพรรคการเมืองหนึ่ง เสนอเงินให้ 200 ล้านบาท เพื่อดึงตัวไปร่วมงาน แต่ในเวลาเขาได้ปฏิเสธ

“ไม่มีการเสนอให้เงินให้ทองแม้แต่บาทเดียว แม้จะเรื่องช่วยเลือกตั้งไม่มีทั้งสิ้น เพราะเป็นพี่เป็นน้องกันทั้งนั้น ทั้งน้องขิง เอกนัฎ พร้อมพันธ์ เลขาธิการพรรค และ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค อยู่กันแบบพี่แบบน้อง ไม่มีพูดเรื่องเงิน ผมเดินทางไปโน่นไปนี่มีแต่เสียเงิน”

“ในพรรคประชาธิปัตย์ก็มีความแตกแยกกันมาก ลูกสาวตน ก็เป็น ส.ส.อยู่พรรคประชาธิปัตย์มา รู้สึกไม่สบายใจและอึดอัด ที่นี่มีการแบ่งกันเป็นก๊ก เป็นก๊วน จึงได้บอกนายชวนไปว่า คงลำบากใจในการอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป”

ทั้งหมดเป็น “ขุมกำลัง” เพียงบางส่วนในพรรค รทสช. “ลมใต้ปีก” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในสมรภูมิเลือกตั้งที่กำลังมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ที่สำคัญ ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด “รวมไทยสร้างชาติ” จะทำได้อย่างที่ประกาศไว้หรือไม่ ???