“ดร.วินัย” ยืนยัน การถือศิลอด เดือน”รอมฎอน” ทำให้ สุขภาพร่างกายแข็งแรง

87

ผอ. ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ และ รองประธานคณะกก.กลางอิสลามแห่งประเทศไทย ยืนยัน การถือศีลอดตลอดเดือนรอมฎอน ของาวมุสลิม ทำให้ สุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น

ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รองประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการถือศิลอดในเดือน”รอมฎอน” ระบุว่า ตลอดชีวิตการทำงานนานกว่าสี่ทศวรรษ ผมใช้เวลาในต่างประเทศนานห้าปี ส่วนที่เมืองไทย ผมย้ายที่ทำงานสองครั้ง ครั้งแรกใน พ.ศ.2533 ย้ายจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ไปคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ครั้งที่สองใน พ.ศ.2536 ย้ายจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงไป คณะสหเวขศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ายครั้งที่สองนี่เอง ที่ผมเริ่มงานด้านวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา งานแรกเป็นงานบรรยายด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่าด้วยผลของการถือศีลอดในเดือน “รอมฎอนต่อสุขภาพ” ครั้งนั้นเป็นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2537 ผมวิเคราะห์งานวิจัยทางการแพทย์สองสามชิ้น หนึ่งในนั้นคืองานของ นายแพทย์แมกซิโม เมสลอส (Maximo Maislos) แห่งมหาวิทยาลัยเบนกูเรียน ประเทศอิสราเอล ตีพิมพ์ในวารสาร The American Journal of Clinical Nutrition เดือนพฤษภาคม 2536การตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการยุคก่อน มักมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์สนุกๆ เล่าแยกออกมาด้วย โดย “เมสลอส” ซึ่งเป็นนายแพทย์ และ นายพันเอกในกองทัพบกอิสราเอล สนใจผลของสงครามอาหรับ-อิสราเอล ย้อนหลังกลับไปใน พ.ศ.2516 สงครามครั้งนั้นเกิดในเดือน “รอมฎอน” ทว่ากองทัพบกอียิปต์ กลับเข้มแข็งกระทั่งทำการรบเกือบชนะกองทัพบกอิสราเอล คำถามมีว่าเหตุใดทหารอาหรับ จึงเข้มแข็งขึ้นในเดือน “รอมฎอน” ทั้งๆที่ตรากตรำกับการ “ถือศีลอด” ตลอดทั้งวันทั้งยังทำงานเป็นปกติเช่นเดียวกับที่ ท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ปฏิบัติ เหตุการณ์คล้ายสงครามทะเลทรายที่บ่อน้ำบะดัรใน ค.ศ.624 ซึ่งกองทัพของ “ท่านนบี” ได้ชัยชนะต่อกองทัพศัตรูที่มีกำลังพลมากกว่าสามเท่า โดยครั้งนั้นเป็นเดือน “รอมฎอน”แท้ๆ เหตุใดมุสลิมที่ถือศีลอดจึงเข้มแข็งขึ้น นี่คือคำถามเชิงวิจัย

อาสาสมัครที่ “เมสลอส” เลือกมานั้นเป็นชาวอาหรับเบดูอินอาศัยในทะเลทรายเนเกฟ (Negev) ของอิสราเอล ถือศีลอดตลอดเดือน”รอมฎอน” โดยประพฤติปฏิบัติเช่นเดียวกับ ท่านนบีมุฮัมมัด นั่นคือทำงานตามปกติ อดการกิน การดื่มอย่างเคร่งครัด ลดการบริโภคหลังมื้อละศีลอด (อิฟตาร) งดมื้อดึกโดยบริโภคมื้อก่อนเช้า (สะฮูร) ละหมาดครบถ้วน เพิ่มละหมาดยามดึก สรุปเป็นว่าในเดือน “รอมฎอน” นอกจากกินอาหารน้อยลงแล้วยังใช้แรงกายเพิ่มขึ้น การปฏิบัติเช่นนี้คล้ายคลึงกับท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.)

ผลของการถือศีลอดตลอดเดือน”รอมฎอน” อาสาสมัครมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น การทำงานของหัวใจและปอดดีขึ้น ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และ หลอดเลือดลดลง นายแพทย์ “เมสลอส” จึงสรุปว่าการถือศีลอดทำให้ร่างกายและจิตใจเข้มแข็งขึ้นจริง ยืนยันชัดเจนด้วยข้อมูลทางการแพทย์ออกมาอย่างนั้น #drwinaidahlan, #ดร.วินัยดะห์ลัน, #ถือศีลอดเดือนรอมฎอน