นายกฯ เผย ธปท.-คลัง ห่วงเสถียรภาพการเงิน เตือนการเมือง ออกนโยบายหวือหวา

69

นายกรัฐมนตรี เผย ธปท.และ กระทรวงคลัง ห่วงเสถียรภาพการเงินการคลัง เตือน พรรคการเมือง ออกนโยบายหวือหวาจะไม่คุ้มเสีย เหตุงบประมาณมีจำกัด แนะ ปชช.ช่วยกันคิด

วันที่ 11 เม.ย.2566 เวลา 12.38 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายหาเสียงเงินดิจิทัล ของพรรคเพื่อไทย คิดว่าทำได้หรือไม่ ในฐานะที่เป็นรัฐบาลมา 8 ปี ว่า วันนี้ได้ให้โอกาสหน่วยงานด้านเศรษฐกิจการเงินการคลังมาชี้แจง แต่ตนไม่ได้อยากไปอะไรกับใคร เพราะเป็นเรื่องของการหาเสียงของแต่ละพรรค วันนี้มาพูดคุยถึงการรักษาเสถียรภาพทางการเงินการคลังของประเทศ และการใช้จ่ายของประเทศที่ผ่านมา เราใช้จ่ายอย่างไร เพื่อจะพุ่งเป้าไปยังผู้ที่เดือดร้อน ทำให้เกิดรายได้ เรื่องการประกอบอาชีพต่างๆเพิ่มเติมด้วย ไม่ใช่ให้เงินอย่างเดียว

โดยจะเห็นได้ว่าในส่วนที่เป็นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ร่วมทำกันมาแล้ว ซึ่งก็ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนไปได้มากพอสมควร ทั้งนี้ ต้องดูเม็ดเงินว่าจะสามารถทำอะไรได้อีก ฉะนั้นงบประมาณต่างๆของปี 2567 ตั้งไปแล้ว ถ้าจะไปแก้ไขอะไรต้องไปแก้กันในสภาฯหน้า เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นกฎหมายเป็นระเบียบที่ต้องทำงบประมาณไว้ก่อนล่วงหน้าในปี 2567 โดยจะต้องนำสิ่งต่างๆที่จะต้องทำต่อในเรื่องการลงทุนต่างๆที่มีกฎหมายชัดเจนการลงทุนกี่เปอร์เซ็นต์การใช้งานกี่เปอร์เซ็นต์ และมีงบประมาณเหลือเท่าไหร่ที่จะทำโครงการใหม่ รวมถึงงบประมาณการใช้หนี้ การเติมเงินคงคลัง ที่เราสำรองจ่ายไปในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ฉะนั้นต้องมองในบริบทใหญ่

“วันนี้ถ้าเรามองในภาพรวมจะเห็นว่าเศรษฐกิจเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งคำว่าดีขึ้นไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะร่ำรวยทั้งหมด เพียงทำให้สถานะทางการเงินการคลังของเราแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น สิ่งที่เห็นได้คือการท่องเที่ยว ที่มีคนเข้ามาหลาย 10 ล้านคน การจองเครื่องบินเข้ามาหลายหมื่นไฟล์ ในช่วงโลว์ซีซั่น ถือ เป็นการจัดหารายได้เพิ่มเติม ซึ่งเราจะต้องเตรียมความพร้อมประเทศของเรา เพื่อรองรับการท่องเที่ยวตลอดจนการลงทุนใหม่ โดยบีไอไอสถิติช่วงต้น ปีที่ผ่านมาสูงขึ้นถึง 40 กว่าเปอร์เซนต์หลายแสนล้านบาท และยังมีการลงทุน จากภายนอกประเทศเข้ามาอีก รวมถึงเรื่องอุตสาหกรรมใหม่ๆ รถไฟฟ้า แบตเตอรี่สถานีเติมไฟต่างๆ มีครบทุกอัน”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกฯ กล่าวว่า สิ่งสำคัญจะต้องพัฒนาเทคโนโลยีให้ได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งวันนี้เดินหน้าไปเยอะแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นรายได้ที่จะเข้ามาตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างที่หลายคนอยากได้มากขึ้น ถ้าเราหาเงินไม่ได้ก็จะลำบาก ซึ่งต้องใช้เวลาทำต่อเนื่องหลายปี และหลายอย่างเราทำใหม่
เพื่อรองรับสถานการณ์ที่จะต้องใช้งบประมาณสูงขึ้น ในโอกาสต่อไป

“ดังนั้นจะทำอะไรใหม่ๆก็ตามจะต้องคำนึงถึงว่าเรามีทรัพยากรอยู่เท่าไหร่ เราจะดูแลใครได้บ้างและดูแลได้มากน้อยแค่ไหน การจะทำอะไรต่างๆ ก็ตามถ้ามันมากเกินไปสิ่งที่ทำอยู่แล้วเดิม ก็สูญเสียไปทั้งหมดนั่นแหละ อะไรที่เคยได้มันก็จะไม่ได้ เพราะไปทำเรื่องใหม่ทั้งหมด ซึ่งมันจะคุ้มค่ากันหรือเปล่ากับการสูญเสียไปก็ไม่รู้เหมือนกัน ซึ่งเป็นเรื่องของประชาชนที่จะต้องช่วยกันคิดแล้วกัน” นายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่าธนาคารแห่งประเทศ และกระทรวงการคลัง มีข้อเสนอแนะ หรือ มีข้อห่วงใยอะไรหรือไม่ในเรื่องดังกล่าว นายกฯ กล่าวว่า ขอให้ระมัดระวังเรื่องความมีเสถียรภาพของสถานะทางการเงินการคลังของประเทศ ซึ่งตอนนี้เราอยู่ในระดับต้นๆ ที่รักษามาตรฐานตรงนี้ไว้ได้ องค์กรทางด้านการเงินระหว่างประเทศ ชื่นชมเราสามารถบริหารจัดการได้ดี การเงิน เรามีเสถียรภาพ ค่าเงินบาทยังโอเคมีค่าอยู่ หลายๆ อย่างมันดีขึ้น เพียงแต่ว่ายังไม่เป็นที่น่าพอใจสำหรับประชาชนโดยรวม ก็ต้องเห็นใจรัฐบาลด้วย ถ้ามีเราก็ดูแลให้ได้หมด อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งต้องระมัด ระวังที่สุดในการใช้จ่ายเงิน