จับตา! ตลาดค้าปลีกอินโดนีเซีย โอกาสทองของ ผู้ประกอบการไทย

97

แนะนำผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย หาช่องทางลงทุนตลาดค้าปลีกอินโดนีเซีย ด้วยจุดเด่นมีประชากร สูงเป็นอับดับที่4ของโลก กำลังซื้อสูงที่ยังมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ตลาดค้าปลีกอินโดนีเซีย นับว่าน่าดึงดูดที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ในการนำสินค้าไปจัดจำหน่าย ด้วยจุดเด่นของจำนวนประชากร 263 ล้านคน สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากจีน อินเดีย และ สหรัฐฯ ยอดค้าปลีกในปี 2022 มีมูลค่าสูงถึง 2.2 พันล้านดอลลาร์ฯ เติบโต 6.5% จากปีก่อน ซึ่งมีทั้งผลจาก การเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ที่ยังคงเติบโตต่อเนื่องสูงขึ้นจากปีก่อนถึง 5.2% ส่งผลให้ประชากรมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น โดยมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 3,789 ดอลลาร์ฯ/คน/ปี เมื่อเทียบกับไทยเราที่อยู่ที่ 7,084 ดอลลาร์ฯ/คน/ปี โดยสิ่งเหล่านี้ยิ่งเปิดโอกาสและช่องทางให้สินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศเป็นที่ต้องการมากขึ้นอีก

พฤติกรรมการบริโภคของอินโดนีเซียส่วนใหญ่ ยังคงอ่อนไหวต่อราคาสินค้า แม้ว่าโดยรวมจะมีรายได้ เพิ่มขึ้นก็ตาม อย่างไรก็ดี โอกาสสำคัญของสินค้าต่างชาติ อยู่ที่กำลังซื้อขนาดใหญ่ของประชากรชนชั้นกลางขึ้นไป ซึ่งมีอยู่ถึง 53.6% ของประชากรทั้งประเทศหรือราว 141 ล้านคน (มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 2,418-8,062 ดอลลาร์ฯ /ปี/ครัวเรือน) โดยคนกลุ่มนี้มีศักยภาพในการจับจ่ายสินค้าอื่น นอกเหนือจากสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน

ให้ความสำคัญกับแบรนด์สินค้า และราคาที่สอดคล้องกับคุณภาพสินค้า ทั้งนี้ ช่วงเทศกาลที่มีการใช้จ่าย คึกคักอย่างมากและเหมาะแก่การจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย ที่ควรให้ความสำคัญอย่างมาก บวกกับเทศกาลตรุษอิดุลฟิตริ (Idul Fitri) หรือวันสิ้นสุดเทศกาลถือศีลอดซึ่งจะเปลี่ยนแปลงตามปฏิทินมุสลิม เทศกาลเปิดเทอม ช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. และเทศกาลปีใหม่ รวมถึงการประชาสัมพันธ์และทำโปรโมชั่นการค้าผ่านสื่อโซเชียล ก็เป็นอีกช่องทางที่มีประสิทธิภาพและผู้บริโภคให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น

ทุกวันนี้ชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่ยังคงซื้อสินค้าผ่านร้านค้าปลีกดั้งเดิม (Traditional Trade) ที่มีจำนวนถึง 4.55 ล้านรายทั่วประเทศ ด้วยจุดเด่นที่มีสินค้าราคาถูก ทำเลที่ตั้งใกล้ที่อยู่อาศัยและเน้นขายอาหารสด อาหารท้องถิ่น อย่างไรก็ดี กลุ่มประชากรชนชั้นกลางในอินโดนีเซียได้เริ่มหันมาจับจ่ายสินค้าสินค้าไลฟ์สไตล์และสินค้าคุณภาพ ผ่านร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) จึงนับเป็นช่องทางสำคัญสำหรับการกระจายสินค้าไทยที่ยังมีโอกาส อีกมาก ทั้งในเมืองหลักอย่างกรุงจาการ์ตา ยอร์กยาการ์ตา และบาหลี รวมทั้งต่อขยายไปตามความเป็นเมือง ในพื้นที่อื่นในเมืองรอง อย่างเมืองบันดุง มาคัซซาร์ เมดาน สุราบายา เรียว หมู่เกาะรีเยา

ซึ่งล้วนเป็นเมืองท่า และเมืองเศรษฐกิจหลักของเกาะสำคัญในอินโดนีเซีย ทั้งนี้ แม้ว่าร้านค้าปลีกสมัยใหม่จะมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 18% ของมูลค่าค้าปลีกในอินโดนีเซีย แต่มีจุดเด่นที่เป็นศูนย์รวมสินค้าคุณภาพและสินค้าจากต่างประเทศ ที่เชื่อใจได้ที่ชาวอินโดนีเซียให้ความเชื่อมั่น โดยสินค้าไทยมีโอกาสกระจายตัวผ่านสาขาร้านค้าปลีกประเภทต่างๆ เช่น ร้านสะดวกซื้อที่มีอยู่ราว 33,200 แห่ง ตามมาด้วยซูเปอร์มาร์เก็ต 1,400 แห่ง ร้านตามสถานีบริการน้ำมัน 700 แห่ง ไฮเปอร์มาร์เก็ต 300 แห่ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสินค้าไทยที่ส่งออกเพื่อตอบโจทย์การบริโภคของชาวอินโดนีเซียยังค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับการส่งออก สินค้าวัตถุดิบขั้นกลางและยานยนต์/ส่วนประกอบ จึงยังมีโอกาสอีกมากสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคของไทย โดยเฉพาะอาหารฮาลาลซึ่งชาวอินโดนีเซียเชื่อมั่นในคุณภาพอาหารไทยอยู่แล้วจึงน่าจะเจาะตลาดมุสลิมที่ใหญ่ที่สุด ในโลกแห่งนี้ได้มากขึ้น แต่ผู้ประกอบการไทยก็ต้องได้รับเครื่องหมายฮาลาลจึงจะนำเข้าไปขายที่อินโดนีเซียได้ นอกจากนี้ สินค้าอื่นที่มีโอกาสอย่างน่าสนใจ อาทิ อาหารฮาลาลแปรรูป อาหารสุขภาพ ผลไม้ เครื่องดื่มสุขภาพ ขนม/ลูกอม เครื่องประดับ ของเล่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เครื่องซักผ้า ไมโครเวฟ ตู้เย็น เฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้าน รวมถึง กลุ่มสินค้าเสื้อผ้า รองเท้า สุขภาพและความงาม และผลิตภัณฑ์การดูแลอนามัยส่วนบุคคล เป็นสินค้าอีกกลุ่ม ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับแบรนด์สินค้าพอสมควร

ดังนั้น SME ไทยควรหาตัวแทนนำเข้าสินค้าไทยไปจำหน่ายยังอินโดนีเซีย (Distributors) ก่อนที่จะไปถึงผู้ค้าปลีก (Retailers) เพื่อเป็นตัวช่วยลดขั้นตอนความยุ่งยากและลดภาระต้นทุนด้านต่างๆ ทั้งการพิธีการทางศุลกากร การขนส่ง และการจัดจำหน่าย ซึ่งผู้กระจายสินค้าดังกล่าวจะต้องสามารถเข้าถึงผู้ค้าปลีกรายใหญ่ๆ ในอินโดนีเซียได้ ได้แก่ Indomaret, Alfamart, Matahari Department Store, Carrefour, Alfa Midi และ Hypermart ฯลฯ ซึ่งผู้สนใจสามารถติดต่อกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีรายชื่อผู้นำเข้าของอินโดนีเซีย ที่เชื่อถือได้ และมีเครือข่ายสำนักงานส่งเสริมการค้าตั้งอยู่ในกรุงจาการ์ตา ที่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ ในการทำธุรกิจที่อินโดนีเซียได้ให้สำเร็จสู่เป้าหมายที่ผู้ประกอบการไทยวาดฝันได้สำเร็จ.