นายกฯ เรียก “ผู้ว่าแบงก์ชาติ” ถก ลุ้นระทึก “จุดแตกหัก” แวดวงการเงิน

662

อุณหภูมิในแวดวงการเงินร้อนระอุขึ้น เมื่อ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” “ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยอมรับว่า มีกำหนดเข้า “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯ และ รมว.คลัง ในฐานะผู้บังคับบัญชาโดยตรง ในวันจันทร์ที่ 2 ต.ค.นี้ จริง ตามที่เป็นกระแสข่าว

แต่ยังไม่รู้ว่า นายกฯ จะเรียกหารือเรื่องอะไร แต่ “เศรษฐพุฒิ” ยืนยันว่า พร้อมตอบทุกคำถาม!

ในแง่ของกฎหมาย “แบงก์ชาติ” หรือ ธปท. เป็นองค์กรอิสระ รัฐบาลไม่สามารถ ก้าวก่าย แทรกแซง การทำงานได้ แต่ในแง่ของการปฏิบัติ ทำได้จริงหรือ ???

อย่างที่บอก… ไม่มีใครรู้ว่า นายกฯ เรียกหารือเรื่องอะไรบ้าง แต่ถ้าไล่เรียงประเด็นระหว่าง “รัฐบาล” กับ “แบงก์ชาติ” ที่ดูเหมือนไม่ลงรอยกันในช่วงนี้ จะมี 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ

1.การแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ซึ่งเดิมรัฐบาลมีแผนออกเป็น Utility Token แต่ติดปัญหาว่า ธปท. ไม่อนุญาตให้เจ้า Utility Token เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ หรือ Means of Payment ทำให้รัฐบาลต้องหาวิธีอื่นในการแจกเงินดังกล่าว รวมทั้งวงเงินซึ่งนำมาใช้สูงถึง 5.6 แสนล้านบาท ทาง ธปท. จึงห่วงฐานะการคลัง และไม่เห็นด้วยกับนโยบายแจกเงินถ้วนหน้าเช่นนี้

2.นโยบาย “พักหนี้เกษตรกร” ที่เป็นลูกหนี้รายย่อยของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงินไม่เกิน 3 แสนบาท เป็นเวลา 3 ปี ซึ่งเรื่องนี้ ธปท. ก็ไม่เห็นด้วย โดยมองว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด จึงได้ทำหนังสือแสดงความเป็นห่วงส่งไปยังรัฐบาล

3.การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ของ ธปท. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สู่ระดับ 2.5% เป็นระดับที่สูงสุดรอบ 10 ปี แม้ว่า ธปท. จะปรับลดคาดการณ์ “เศรษฐกิจ” และ “เงินเฟ้อ” ลงมามาก เหลือเติบโตแค่ 2.8% และ 1.6% ตามลำดับ จากเดิม 3.8% และ 2.5% ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยท่ามกลางเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำกว่าการคาดการณ์เช่นนี้ ไม่เฉพาะแค่รัฐบาลเท่านั้น แต่คนในแวดวงเศรษฐกิจเองก็ตั้งคำถามประเด็นนี้กับทาง ธปท. เช่นเดียวกัน

ปฎิเสธไม่ได้ว่า 3 เรื่องที่หยิบยกขึ้นมานี้ กำลังนำไปสู่ “จุดแตกหัก” ระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติในอนาคต หากทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่สามารถเปิดใจพูดคุยกันได้

ถ้ามองด้วยใจเป็นกลาง ต้องยอมรับว่า การแอ็กชั่นของทั้ง 2 ฝ่ายนี้ ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะ “ฝั่งรัฐบาล” ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในสาย “พิราบ” ที่ต้องการเห็นเศรษฐกิจเติบโตมากๆ เพราะสะท้อนถึงผลงานของตัวเอง

แต่ในทางกลับกัน ฝั่งของ ธปท. ซึ่งมีหน้าที่รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน ก็มักจะอยู่ในฝั่งของ “เหยี่ยว” ที่ห่วงว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจที่มากจนเกินไปอาจทำให้สมดุลเศรษฐกิจระยะยาวเสียหายได้ การแก้ปัญหาจะยิ่งยากและหลายครั้งก็นำไปสู่วิกฤติที่รุนแรง ซึ่งตัวอย่างก็มีให้เห็นในหลายๆ ประเทศ

การพบกันของทั้ง 2 ฝ่าย ในวันจันทร์นี้จึงเป็นที่จับจ้องของผู้คนในแวดวงเศรษฐกิจการเงินว่า หลังจากนี้จะมีอะไรออกมาบ้าง? เป็นประเด็นร้อน ในแวดวงการเงิน ที่ต้องจับตาดูด้วยความ ลุ้นระทึก!