อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ ตั้งโต๊ะ แถลงผลการดำเนินงานในรอบปี 2566

42

กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ แถลงผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดยเชิญแขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชนรับฟังภายใต้วิสัยทัศน์ “สังคมรู้หน้าที่ เคารพสิทธิมนุษยนชน ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม”

วันที่ 3 ต.ค. 2566 ที่ บริเวณโถงกลาง ชั้น 6 อาคารกระทรวงยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ แถลงผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2566 ในนามของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีที่ผู้มีเกียรติและสื่อมวลชน ที่ได้มาร่วมงานวันสถาปนากรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ปีที่ 21 และแถลงผลการดำเนินงานของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ขอเรียนทุกท่านว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาล นโยบายของกระทรวงยุติธรรม และภารกิจกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดยมี ผลการดำเนินงาน ดังนี้

เป้าหมายสำคัญของการขับเคลื่อนงาน คือ การละเมิดสิทธิมนุษยชนลดลง กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กำหนดวิสัยทัศน์ : “สังคมรู้หน้าที่ เคารพสิทธิมนุษยชน และได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม” โดยมีภารกิจขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย มุ่งสู่เป้าหมายให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนลดลง โดยได้กำหนดดัชนีชี้วัด 2 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย

1) สัดส่วนการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย และเพศ ต่อประชากรหนึ่งแสนคน ลดลง เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

2) จำนวนเรื่องร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม ลดลง เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีการทดลองจัดเก็บข้อมูลใน 10 จังหวัดนำร่อง ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดพะเยา จังหวัดขอนแก่น จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสุโขทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดอ่างทอง จังหวัดปัตตานี และจังหวัดสงขลา พบว่ามีแนวโน้มลดลงทั้งสองตัวชี้วัด ดังนั้นปี 2566 จึงได้มีการทบทวนและพัฒนาดัชนีชี้วัด และขยายผลการประเมินสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด ซึ่งผลของตัวชี้วัดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในปี 2566 อยู่ระหว่างการรวบรวมจากหน่วยงานต่าง ๆ ในทุกจังหวัด ของประเทศไทยเพื่อนำมาประมวลผลข้อมูล จะเสร็จสิ้นภายในเดือนตุลาคม 2566 นี้

1.การขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย โดยมี รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นรองประธาน อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นเลขานุการ และคณะกรรมการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชน ฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อช่วยประสานงาน กำกับ ติดตามการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน จำนวน 6 คณะ ได้แก่
1.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน 3.คณะอนุกรรมการพิจารณาและคัดเลือกองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน
4.คณะอนุกรรมการประสานการดำเนินงานตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน
5.คณะอนุกรรมการจัดทำมาตรฐานธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนและตราสัญลักษณ์
6.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนระดับจังหวัดและกรุงเทพมหานคร

2. การขับเคลื่อนแผนงานระดับชาติด้านสิทธิมนุษยชนและการสร้างการรับรู้
ประเทศไทยมีแผนงานระดับชาติด้านสิทธิมนุษยชน อยู่ 2 แผน ที่รัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการกำกับการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน ได้แก่ แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 5 (พ.ศ.2566-2570) และแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) โดยมีการดำเนินงานสำคัญ ดังนี้

(1) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570) คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบแผนฯ เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2566 โดยให้หน่วยงานรัฐระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า 39 หน่วยงาน จัดทำแผนปฏิบัติการของหน่วยงานและถ่ายทอดให้หน่วยงานใต้สังกัดนำไปปฏิบัติ รวมทั้งให้หน่วยงานระดับกรมหรือเทียบเท่า บรรจุวิชาสิทธิมนุษยชน ไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง ในหลักสูตรอบรมข้าราชการด้วย โดยแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 นี้ เป็นกรอบทิศทางให้หน่วยงานรัฐใช้แก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนใน 5 ด้าน 11 กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งกลุ่มเปราะบางต่างๆจะได้รับการเสริมพลังและแต้มต่อในการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี ทุกคนได้รับการส่งเสริม เคารพสิทธิ ไม่ถูกละเมิดสิทธิ นำไปสู่สังคมเคารพสิทธิมนุษยชน

(2) แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (NAP) ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) คณะรัฐมนตรีได้ เห็นชอบ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 โดยมีประเด็นสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านแรงงาน 2. ด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3. ด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 4. ด้านการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ

โดยได้จัดงานประกาศแผนNAP เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 ณ The Portal Ballroom อิมแพ็ค เมืองทองธานี แผน NAP ฉบับนี้ มีเป้าหมายสำคัญเพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและรัฐวิสาหกิจ มีความตระหนักและดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชน มุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

(3) การนำแผน 2 แผนไปสู่การปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมนั้น ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ ด้วยการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ผ่านกลไก (บ้าน/วัด/โรงเรียน) “บวร” โดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนระดับจังหวัด และกรุงเทพมหานคร ได้นำแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570) รายด้าน 5 ด้าน และรายกลุ่ม 11 กลุ่ม และแผน NAP ระยะที่ 2 รวมทั้งงานส่งเสริม “สิทธิมนุษยชนศึกษา” ผ่าน “บวร” (บ้าน/วัด/โรงเรียน) กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนของจังหวัด กำหนดตัวชี้วัดลดการละเมิดสิทธิมนุษยชนของจังหวัด ที่สำคัญทุกจังหวัดจะต้องประกาศเจตนารมณ์หรือนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของจังหวัด ว่าจะบริหารงานภายใต้หลักการการเคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้ดำเนินการครบทั้ง 77 จังหวัด รวมกรุงเทพมหานครด้วย

นอกจากนี้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ยังได้จัดตั้งสถาบันพัฒนาสิทธิมนุษยชน เพื่อเป็นสถาบันอบรมความรู้ พัฒนางานด้านสิทธิมนุษยชนและการวิจัยด้านสิทธิมนุษยชน ในปี 2566 ได้อบรมหลักสูตรนักบริหารด้านสิทธิมนุษยชนระดับ ต้น กลาง สูง หลักสูตรละ 50 คน รวม 150 คน และกรมฯ ได้สร้างการรับรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ภารกิจของกรมฯ ผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ การอบรม สัมมนา สื่อในรูปแบบต่างๆ (TikTok YouTube Facebook ฯลฯ ) โดยสามารถสร้างการรับรู้ได้กว่า 18 ล้านคน

3.รางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน
เป็นรางวัลที่นายกรัฐมนตรีมอบให้แก่หน่วยงานที่นำหลักการสิทธิมนุษยชนไปปฏิบัติและเป็นแบบอย่างที่ดี โดยปี 2566 มีหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจเอกชน วิสาหกิจเพื่อสังคม และภาคประชาสังคม สมัครขอรับรางวัล 251 องค์กร ซึ่งมีหน่วยงานที่ได้รับรางวัลจำนวน 109 องค์กร เป็นหน่วยงานภาครัฐ 51 องค์กร ภาครัฐวิสาหกิจ ธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม และภาคประชาสังคม 58 องค์กร ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานพิธีมอบรางวัล เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร

4.การช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย
(1) การช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหาย และจำเลยในคดีอาญา ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2559 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้ให้การช่วยเหลือ 8,341ราย จากงบประมาณที่ได้รับ 400 ล้านบาท และรัฐบาลอนุมัติงบกลางเพิ่มเติมอีก 45 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 445 ล้านบาท ตัวอย่างกรณีที่สำคัญ เช่น การเยียวยา กรณีคดีแอมไซยาไนต์ ผู้เสียหาย 15 ราย เป็นเงิน 2.4 ล้านบาท กรณีโรงงานดอกไม้ไฟระเบิดที่นราธิวาส ผู้เสียหาย 357 ราย เป็นเงิน 4 ล้านบาทเศษ

(2) การคุ้มครองพยานในคดีอาญา
พยานที่อยู่ในการคุ้มครองจำนวน ทั้งสิ้น 170 ราย ปัจจุบันอยู่ระหว่างคุ้มครอง 72 ราย พยานที่อยู่ในโครงการมีความปลอดภัย 100 % และจำนวนคดีที่พยานได้รับการคุ้มครอง พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนแล้วเสร็จและมีความเห็นสั่งฟ้อง ร้อยละ 100 จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการคุ้มครองสิทธิพยานคดีค้ามนุษย์ ณ จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดอุบลราชธานี ออกอนุบัญญัติรองรับพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่2) จำนวน 5 ฉบับ

(3) การขับเคลื่อนงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ตาม พ.ร.บ.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 เพื่อให้ประชาชนตระหนักรู้และเลือกใช้กระบวนการไกล่เกลี่ย เพื่อยุติข้อพิพาททั้งข้อพิพาททางแพ่งและข้อพิพาททางอาญา โดยมีผลการดำเนินการต่อเนื่อง ดังนี้
1) จัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท 2,020 แห่ง ( ภาครัฐ จำนวน 82 แห่ง /ภาคประชาชน จำนวน 1,938 แห่ง (กทม. 403 /ตจว. 1,535)
2) จำนวนผู้ไกล่เกลี่ย 4,876 คน (ขึ้นทะเบียน ศกช.)
3) จำนวนข้อพิพาททางแพ่งและข้อพิพาททางอาญาที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 2,837 เรื่อง สามารถยุติได้จำนวน 2,735 เรื่อง (สำเร็จร้อยละ 96.40) สามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีได้ 328.12 ล้านบาท (ลดค่าใช้จ่ายประชาชน จำนวน 289.13 ลบ./ลดต้นทุนภาครัฐ จำนวน 38.99 ลบ.)
4) อบรมหลักสูตรการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท จำนวน 2,175 คน จำแนกเป็น (งบประมาณกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จำนวน 2 รุ่น รวม 100 คน งบประมาณจากสำนักงานกองทุนยุติธรรม จำนวน 8 รุ่น รวม 395 คน และร่วมกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ จำนวน 35 รุ่น จำนวน 1,680 คน นอกจากนี้ กรมฯ ได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทประจำสถานีตำรวจ ทุกแห่ง และขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา การจัดตั้งกรมไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ด้วย

(4) การขับเคลื่อนกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามทรมานฯ 2565 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566
-กำหนดฐานความผิด 3 ฐาน ได้แก่ (1) ฐานกระทำทรมาน (2) ความผิดฐานกระทำที่โหดร้าย ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และ(3) ฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย
-จัดตั้งกลไกคณะกรรมการตามกฎหมาย เพื่อกำกับดูแลเชิงนโยบายและติดตามสถานการณ์ในภาพรวม
-การอบรมความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมาน ให้หน่วยงานต่างๆ
-ออกระเบียบคณะกรรมการฯว่าด้วยการบันทึกภาพเสียงในขณะจับและควบคุมการแจ้งการควบคุมและการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว พ.ศ.2566 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยึดถือปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน
-สถิติการรับข้อร้องเรียน จำนวน 9 ราย เป็นการกระทำทรมาน 6 ราย การกระทำที่โหดร้าย 3 ราย โดยได้ส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุด พิจารณาดำเนินการตรวจสอบต่อไป

(5) การจัดหาทนายความ และช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย
1. จัดหาทนายความในชั้นสอบสวนคดีอาญา 15,118 ราย (คดีผู้ใหญ่ 7,420 ราย /คดีเด็ก 7,698 ราย)
2. ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย 22,026 ราย
3. รับเรื่องร้องทุกข์ 1,756 ราย ดำเนินการแล้วเสร็จ 1,586 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการ 170 ราย
4. จัดหาล่ามในกระบวนการยุติธรรม 97 ราย (ภาษาเมียนมา จีน อังกฤษ กัมพูชา)
5. ผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิประชาชน

(6.) การขับเคลื่อนกติกาและอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ จำนวน 5 ฉบับ ดังนี้
1.กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)
2. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR)
3. อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (ICERD)
4.อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายฯ (CAT)
5.อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (ICPPED)

ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการเสนอเรื่องการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาในเร็วๆนี้ นอกจากนี้ ยังดำเนินการตามกลไก UPR ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมองค์การระหว่างประเทศ จัดการประชุมเพื่อเผยแพร่รายงานประเทศตามกลไก UPR รอบที่ 3 จำนวน 6 ครั้ง โดยดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบเกี่ยวกับความเป็นมา กระบวนการจัดทำ สาระสำคัญ และข้อเสนอแนะที่ได้รับจากประเทศสมาชิกสหประชาชาติ

สุดท้ายนี้ ต้องขอขอบคุณผู้มีเกียรติและสื่อมวลชนทุกท่านที่ได้ให้ความสนใจ การดำเนินงานกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 และให้การสนับสนุนการเสนอข่าวสารของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพด้วยดีตลอดมา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพด้วยดีตลอดไป