หอการค้า เผยผลสำรวจ ลอยกระทง เงินสะพัดหมื่นล้าน คนห่วงเงินดิจิทัลฯสร้างหนี้

55

ลอยกระทงปีนี้เงินสะพัด 10,005 ล้านบาท เฉลี่ย 1,900-2,000 บาท/คน เพิ่ม 3.3% ดีสุดในรอบ 8 ปี คลายโควิด-ท่องเที่ยวคึกคักหนุน อยากได้เงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท แต่ไม่อยากให้กู้เป็นภาระลูกหลานในอนาคต กังวลค่าครองชีพ-สินค้าแพง

วันที่ 23 พ.ย.2566 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจ พฤติกรรมและการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงวันลอยกระทงและทัศนะต่อสถานการณ์ปัจจุบันระหว่างวันที่ 14-20 พ.ย.66 จำนวน 1,240 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่าประชาชน 64.3 % มองว่าจะออกไปลอยและทำกิจกรรมอื่น และสนุกสนานมากกว่าปี 2565 โดยคนส่วนใหญ่เห็นว่า ขณะนี้ภาพรวมเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิดที่ผ่านมาเริ่มน้อยลง และเห็นว่าประเทศเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมากขึ้น ทำให้คนส่วนใหญ่กล้าออกมาท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น และได้รับอนิสงค์จากมาตราการต่างๆจากภาครัฐด้วย

สำหรับลอยกระทงปีนี้ การใช้จ่ายตามกิจกรรมต่อคนจะเฉลี่ยอยู่ที่คนละ 1,900-2,000 บาท เพื่อมาจับจ่ายใช้สอยและท่องเที่ยวในช่วงวันลอยกระทง ส่งผลให้ปี 66 เงินสะพัดจากเทศกาลลอยกระทงจะอยู่ที่ 10,005 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.3% ถือว่าดีขึ้นในรอบ 8 ปี และมองว่าเศรษฐกิจไทยพ้นปากเหวแล้ว ซึ่งเศรษฐกิจไทยเริ่มที่จะกลับมาฟื้นตัว โดยคาดว่าจะฟื้นตัวเต็มที่ในช่วงครึ่งหลังของปี 67

ขณะเดียวกันแม้ช่วงวันลอยกระทงปีนี้จะกลับมาคึกคัก แต่คนส่วนใหญ่ยังกังวลใจเกี่ยวกับปัญหาการจราจรติดขัด เกิดไฟไหม้ เกิดการจี้ปล้น และขอพรให้มีเงินไหลมาเทมา สุขภาพแข็งแรง อยากให้เศรษฐกิจกลับมาดีขึ้น และเร่งปราบปรามยาเสพติด และที่คนส่วนใหญ่ตอบแบบสอบถามคนข้างกังวลใจกันมากคือ โครงการดิจิทัลวอลเล็ตแจกเงิน 10,000 บาท แม้คนส่วนใหญ่เห็นด้วยและพร้อมที่จะส่งทะเบียนรับเงินโครงการนี้ แต่ส่วนใหญ่เกรงว่าไม่อยากให้รัฐบาลกู้เงินมา เพราะจะเป็นภาระให้กับลูกหลานในอนาคต

ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจยังประเมินภาพรวมเศรฐกิจไทยในปีนี้ คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 2.4-2.5% ต่อจีดีพี และปีหน้าจะอยู่ที่ 3-4% ต่อจีดีพี โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว ราคาน้ำมันไม่ผันผวนมาก อัตราดอกเบี้ยไม่ปรับขึ้น โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเริ่มนำมาใช้ในช่วงกลางปี 2567 และภาคการส่งออกฟื้นตัว จึงเป็นปัจจัยหนุนทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวด้วยเช่นกัน