รมว.ยุติธรรม อาลัย “พล.ต.ต.จำรูญ” รุดคารวะ “กุโบร์” ผู้ร่วมก่อตั้งทีวีภาษามาลายู

73

 “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม พร้อมมคณะและแกนนำพรรคประชาชาติ ร่วมอาลัย “พล.ต.ต.จำรูญ” เสียชีวิตด้วยโรคประจำตัว รุดคารวะหลุมศพ ยกเป็นผู้ทรงคุณค่า ผลักดัน ทีวีภาษามลายู ศอ.บต. จนเป้นผลสำเร็จ

วันที่ 28 ม.ค.2567 ที่ จ.ปัตตานี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วย แกนนำพรรคประชาชาติ (ปช.) เดินทางมาให้กำลังใจครอบครัว พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามในภาคใต้ หนึ่งในผู้ร่วมผลักดันสถานีโทรทัศน์ภาษามลายู ศอ.บต. ที่เสียชีวิตอย่างสงบ เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา ด้วยโรคประจำตัว

โอกาสนี้ พ.ต.อ.ทวี ได้ลงพื้นที่คาระวะที่หลุมฝังศพ ณ กุโบร์โต๊ะอาเยาะห์ อ.เมือง จ.ปัตตานี โดยมีนางสุดา เด่นอุดม ภรรยา พล.ต.ต.จำรูญ และครอบครัว ให้การต้อนรับ พร้อมกล่าวขอบคุณ ซึ่งทางครอบครัวประทับใจและดีใจที่ไม่ทอดทิ้ง ซึ่งพ.ต.อ.ทวี ได้สอบถามความเป็นอยู่ของครอบครัว พร้อมกล่าวชื่นชม พล.ต.ต.จำรูญ ที่ได้ทำคุณประโยชน์ให้สังคมมากมาย โดยเฉพาะการผลักดันทีวีภาษามลายู ศอ.บต. อีกทั้งในขณะที่ดำรงตำแหน่งอยู่ที่ ศอ.บต.นั้น พล.ต.ต.จำรูญ ไปพบและได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทุกวัน ได้ประชุมเรื่องภาษา อยากให้มีทีวีภาษามลายู ถือเป็นผู้ที่ทรงคุณค่า นอกจากนี้ พ.ต.อ.ทวี ยังได้คาราวะหลุมศพ พล.อ.ณรงค์ เด่นอุดม อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 พี่ชาย พล.ต.ต.จำรูญ ที่เสียชีวิตในวัย 80 ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันสำหรับสถานีวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงภาษามลายู เกิดขึ้นในขณะที่ พ.ต.อ.ทวี ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ให้ความสำคัญ เพื่อแสดงความเป็นอัตลักษณ์ทางภาษา และมีความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยขณะนั้น พล.ต.ต.จำรูญ เป็นประธานคณะกรรมการสถานีวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงภาษามลายู และคณะกรรมการสถาบันภาษามลายูไทยแลนด์

จากนั้น พ.ต.อ.ทวี ได้นำคณะเดินทาง ร่วมกิจกรรมระดมทุนซื้อที่ดินเพื่อการกุศลให้เด็กในพื้นที่ปัตตานี บริเวณ ซอยเพชรสุภา ต.จะบังติกอ อ.เมือง จ.ปัตตานี โดยมีแกนนำพรรคประชาชาติ และผู้นำในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ และขอถ่ายภาพเพื่อเป็นที่ระลึก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.ทวี ขณะทำหน้าที่เป็นเลขาธิการ ศอ.บต. มีเจตนารมณ์ในการจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงภาษามลายู ต้องการจะส่งเสริมให้มีการศึกษาเรียนรู้ การปกป้องรักษาภาษามลายู ซึ่งเป็นภาษาที่กำเนิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาหลายร้อยปีให้ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ โดยเริ่มต้นจากสถานศึกษาทั้งในระดับประถมและมัธยมศึกษา การถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ในรูปแบบของภาษามลายูผ่านสื่อทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และต้องการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแล รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ให้ครอบคลุมทุกมิติ

ภาษามลายูมีความสำคัญกับคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน ประชาชนรับรู้และเข้าใจในเรื่องราวต่างๆ ได้ง่าย และภาษามลายูเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นที่ต้องส่งเสริม จะต้องทำให้ประชาชนในพื้นที่รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นความจริง ภาษามลายูเป็นสมบัติ เป็นมรดกของทุกคน เป็นสิ่งที่บรรพบุรุษหวงแหน จึงเป็นหน้าที่ของลูกหลานในพื้นที่ที่จะต้องดูแลรักษาให้คงอยู่กับเราตลอดไป

โดยมีการดำเนินรายการทีวีเผยแพร่ภาษามลายู จาก 2 ชั่วโมง/วัน จำนวน 8 สาระ 15 รายการ ออกอากาศทางทีวีช่อง NBT ส่วนแยก จ.ยะลา ที่มีอยู่เดิมให้สามารถออกอากาศได้ 24 ชั่วโมง โดยศอ.บต.และบอร์ดทีวีภาษามลายู ได้เข้าพบนายอภินันท์ จันทรังษี ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์คนใหม่ในขณะนั้น เพื่อเดินหน้าตามแผนงานที่ปรับเปลี่ยน

หากใช้สถานีและโครงข่ายของช่อง 11 ได้ รวมทั้งใช้ทีมงานของช่อง 11 บางส่วน ก็จะประหยัดงบประมาณและการผลิตเนื้อหาแบบมืออาชีพ ทั้งจะมีการเจรจาขอใช้ดาวเทียมของช่อง 11 ซึ่งมีสถานีอยู่เพื่อเปิดช่องทีวีภาคภาษามลายูเต็มรูปแบบยึดมั่นนโยบายส่งเสริมการใช้ภาษามลายูของพี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งนอกจากมีทีวีภาษามลายูแล้ว ยังเปิด “สถาบันภาษามลายูไทยแลนด์” ขึ้น ซึ่งในอนาคตสถาบันแห่งนี้จะเป็นสถาบันฝึกอบรมผู้จัดรายการทั้งโทรทัศน์และวิทยุให้สามารถใช้ภาษามลายูได้อย่างถูกต้องด้วย.