ศาลนราธิวาส สั่งคุก 2จทน.ทหาร4ปี ยิงชาวบ้านดับ3ศพ บนเทือกเขาตะเว

46

ศาลสั่งจำคุก 4 ปี “2 ทหาร” ก่อคดียิงชาวบ้านดับ 3 ศพบนเทือกเขาตะเว เมื่อปี 62 ชี้ กระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ครอบครัวพอใจได้รับความเป็นธรรม ย้อนเหตุการณ์สะเทือนปลายด้ามขวาน อ้างเหตุปะทะโจร สุดท้ายความจริงปรากฏ

สำนักข่าวอิศรารายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ก.พ.67 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 1 ศาลจังหวัดนราธิวาส ศาลได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาจำคุกเจ้าหน้าที่ทหาร 2 นายที่ก่อเหตุยิงประชาชนเสียชีวิต 3 ราย ในฐานความผิดกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โทษจำคุก 6 ปี แต่เนื่องจากจำเลยให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวันเกิดเหตุ จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา

คดีนี้สืบเนื่องจากวันที่ 16 ธ.ค.62 ชาวบ้าน 3 คน คือ นายบูดีมัน มะลี ผู้ตายที่ 1, นายมะนาเซ สะมะแอ ผู้ตายที่ 2 และนายฮาฟิซี มะดาโอะ ผู้ตายที่ 3 ได้ขึ้นไปบนเทือกเขาตะเว ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เพื่อตัดไม้และนำไปแปรรูป โดยได้พบกับชุดเจ้าหน้าที่ทหารพราน กรมทหารพรานที่ 45 ขณะออกลาดตะเวนบนเขาตะเว และได้ยิงชาวบ้านทั้ง 3 เสียชีวิต

ศาลจังหวัดนราธิวาสเปิดไต่สวนการตาย (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 เสร็จสิ้น จึงนำมาสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีอาญา โดยพนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ทหาร 2 นาย เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 71/2566 ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา

ศาลจังหวัดนราธิวาสได้อ่านคำพิพากษา โดยสรุปว่า กรณีการเสียชีวิตของผู้ตายรายที่ 1 เนื่องจากมีปลอกกระสุนปืนและเขม่าดินปืนที่มือผู้ตาย แม้ไม่พบอาวุธ แต่ทำให้ศาลเชื่อว่า มีการยิงกันประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่เคยเกิดเหตุ มีการปะทะมาแล้ว ศาลจึงเชื่อว่าน่าจะเป็นการยิงโดยการป้องกันเหตุ

ศาลวินิจฉัยในประเด็นของศพรายที่ 2 และ 3 ซึ่งอยู่ห่างจากผู้ตายที่ 1 และอยู่ในลักษณะหมอบ เหมือนกับว่ายอมทั้งสองคน ประกอบกับที่มือไม่พบร่องรอยเขม่าปืนใดๆ จึงทำให้เชื่อได้ว่า ทั้งสองคนไม่มีอาวุธ หากจำเลยใช้ความระมัดระวังย่อมสามารถเห็นได้ แต่กลับไม่ใช้ความระมัดระวังที่พึงมี ทำให้เกิดการสูญเสียขึ้น จึงมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี แต่เนื่องจากจำเลยให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวันเกิดเหตุ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จึงสั่งลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา

มีรายงานว่า ครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้งสามครอบครัว รวมสิบกว่าคน พร้อมผู้สังเกตการณ์ เดินทางไปที่ศาลจังหวัดนราธิวาส พร้อมนัดกันใส่เสื้อยืดที่มีข้อความบนเสื้อว่า “ความยุติธรรมเป็นของประชาชน” โดยหลังจากฟังคำพิพากษาแล้ว ครอบครัวได้แสดงความพอใจ บางคนถึงกับร้องไห้ที่ได้รับความเป็นธรรม เพราะการต่อสู้คดีตลอด 4 ปี ต้องใช้กำลังใจ กำลังกาย และค่าใช้จ่ายจำนวนมาก