“มนัญญา” เปิดโครงการประชุมพัฒนา “กองทุนบทบาทสตรี” เสริมแกร่งศก.ชุมชน

23

“มนัญญา ไทยเศรษฐ” ประธานที่ปรึกษารมช.มหาดไทย เผย เตรียมปรับโฉม “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” ให้เข้าถึงรายบุคคลสร้างอาชีพ เสริมแกร่งเศรษฐกิจชุมชนฐานรากทุกมิติ

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ ประธานคณะที่ปรึกษา นายชาดา ไทยเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวในการเปิดประชุมโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการคณะทำงานเครือข่ายขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับภาค ที่จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นประชุมตัวแทนกองทุนฯ 14 จังหวัดภาคใต้ว่า การมาเป็นประธานเปิดประชุมครั้งนี้ เป็นไปตามข้อสั่งการของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย ที่ต้องการให้ กรมการพัฒนาชุมชนที่อยู่ในการกำกับของ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย  เดินหน้าเพิ่มศักยภาพของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี (สกส.) ซึ่งตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยเหลือสตรี ในทุกพื้นที่ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้นำไปพัฒนาอาชีพ พัฒนารายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีส่งผลให้มีความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานรากในระดับชุมชนและกรณีชุมชนใดมีสินค้าดี เด่น ดัง หรือมีรางวัลรองรับจะนำมาเชื่อมกับโครงการสินค้าโอทอปในระดับต่างๆต่อไป

ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่ นายชาดา ไทยเศรษฐ รมช.มหาดไทย ที่กำกับดูแลกรมการพัฒนาชุมชน ต้องการเห็นคือการส่งเสริมให้สตรีทุกคนสามารถ ที่จะเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำได้เพื่อนำไปพัฒนาอาชีพของตนเอง โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีมีการปรับเปลี่ยนไปมาก  การพัฒนาอาชีพทำได้หลากหลายมิติมากขึ้น  และสตรีจะได้ไม่ไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบที่ดอกเบี้ยสูงเป็นภาระให้กับครัวเรือน

ดังนั้นขณะนี้กำลังพิจารณาปรับระเบียบในการกู้เงินของกองทุนฯ ที่ รัฐบาลจะจัดสรรให้ปีละประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งเดิมเงื่อนไขการกู้ กำหนดให้สมาชิกกองทุนต้องรวมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปสามารถกู้ได้ในวงเงินไม่เกิน 2 แสนบาท ชำระคืนภายใน 2 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.10 บาทต่อปี   จะแก้ไขให้เป็นกรณีสมาชิกรวมตัวกัน 5 คนขึ้นไป ปรับวงเงินกู้เพิ่มเป็นไม่เกิน 500,000 บาทเพื่อต่อยอดอาชีพ และ ประเด็นสำคัญคือ จะแก้เงื่อนไขการปล่อยกู้ของกองทุนฯให้สมาชิกทุกคน สามารถยื่นกู้กับกองทุนฯได้ด้วยตนเองรายละไม่เกิน 50,000 บาท และ ให้ชำระคืนภายใน 1 ปี

นอกจากนั้นจะพิจารณาขยายให้นักเรียนที่อายุ 15 ปีขึ้นไปซึ่งเป็นบุตรหลานของสมาชิกสามารถกู้เพื่อนำไปพัฒนาโครงการ หรือ งานที่สร้างสรรค์เพื่อต่อยอดงานภายใต้การรับรองของโรงเรียน ซึ่งจะเป็นช่องทางสร้างรายได้ระหว่างเรียนและเป็นช่องทางอาชีพในอนาคต โดยสำหรับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสตรีในแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งแต่ละปีสมาชิกจะมีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทั่วประเทศตามภูมิภาค