ลือสะพัด! “อลงกรณ์” ย้ายไป พท. หลังพบ”ชัชชาติ”เจ้าตัวแจง การเมืองไร้รอยต่อ

120

ลือสะพัด “อลงกรณ์ พลบุตร” อดีต สส.เพชรบุรี พรรคปชป. จะย้ายพรรคไป “เพื่อไทย” หลังพบ “ชัชชาติ” เจ้าตัวแจงสร้างมิติใหม่ “การเมืองไร้รอยต่อ” คือการทำงานร่วมกันระหว่าง สองพรรคการเมือง ที่เป็นคู่แข่งทางการเมือง โดยไม่สนใจถึงการแข่งขัน

นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีต รัฐมนตรีและอดีต ส.ส.6สมัย พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)โพสต์ในเฟสบุ๊คส่วนตัว กรณีมีคำถามเรื่องการย้ายพรรคไปเพื่อไทย หลังจากมีข่าวไปพบหารือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาโดย นายอลงกรณ์เขียนชี้แจงเรื่องนี้เกี่ยวกับ “การเมืองที่ไร้รอยต่อ” ไว้อย่างน่าสนใจดังต่อไปนี้

“การเมืองที่ไร้รอยต่อ” Seamless politics กรณีมีข่าว “อลงกรณ์-ชัชชาติ” ผนึกความร่วมมือ “กทม.-จีน” ด้านพลังงานสะอาดและยานยนต์ไฟฟัาโดยฝ่ายหนึ่งนำโดยนายอลงกรณ์ พลบุตร (พรรคประชาธิปัตย์)กับ อีกฝ่ายหนึ่งนำโดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (พรรคเพื่อไทย)ทำให้เพื่อนๆ และ สื่อมวลชนหลายคนสอบถามด้วยความกังขาว่าคุยกันรู้เรื่องหรือ??? บางคนตีความไปว่าผมจะย้ายพรรคไปเพื่อไทยใช่ไหม??? ผมถามกลับไปว่า ทำไมถึงคิดเช่นนั้นก่อนจะถามต่อไปว่า เข้าใจคำว่า “การเมืองที่ไร้รอยต่อ” (seamless politics)ไหม??? ย้อนถามแบบนี้ก็งงกันสิครับ

ผมอธิบายสั้นๆว่า “การเมืองที่ไร้รอยต่อ” หมายถึงวัฒนธรรมทางการเมือง ที่พรรคการเมือง หรือ นักการเมืองที่อยู่คนละพรรคทำงานร่วมมือกันได้ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม โดยก้าวความความแตกต่างทางการเมือง หรือ การแข่งขันทางการเมือง

ผมเชื่อว่าท่านผู้ว่าชัชชาติ ก็มีแนวความคิดความเชื่อเช่นเดียวกับผม ในเรื่องการเมืองที่ไร้รอยต่อ ท่านให้เกียรติและแสดงออกอย่างกระตือรือร้นในระหว่างการประชุมหารือ และ แสวงหาความร่วมมือที่เป็นไปได้ในทุกมิติ โดยปราศจากร่องรอยการแบ่งพรรค แบ่งฝ่าย

ยิ่งกว่านั้นเรายังได้พูดถึงความร่วมมือในการยกระดับการศึกษาด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น เยเนอเรทีฟ เอไอ(Generative AI-ปัญญาประดิษฐ์) ในระบบ AI Classroom และ ความร่วมมือในโครงการกรุงเทพสีเขียว 2030( Green Bangkok 2030)เพื่อ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและคุณภาพของเมืองหลวงของประเทศ เป็นต้น

ความร่วมมือระหว่างท่านผู้ว่าชัชชาติ และ ผมคือหนึ่งในตัวอย่างของการเมืองที่ไร้รอยต่อ แต่ในขณะเดียวกันก็ได้สร้างความกังขาให้กับเพื่อนๆ และสื่อมวลชน ผมเข้าใจดีว่า การเมืองบ้านเรา เคยชินกับวัฒนธรรมทางการเมืองที่มุ่งต่อสู้แข่งขัน แบ่งพรรคแบ่งฝ่าย หมายเอาชนะคะคานกัน ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง

แต่สำหรับผมคิดว่า เหรียญมีสองด้านเสมอ ด้านหนึ่งคือการแข่งขัน อีกด้านหนึ่งคือความร่วมมือ การเมืองจึงไม่ได้มีแค่เรื่องการแข่งขัน หรือ การต่อสู้ทางการเมืองเท่านั้น แต่การเมืองสามารถร่วมมือกันได้ในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และ ประเทศชาติ และนี่คือวิถีของการเมืองสร้างสรรค์ที่ผมยึดถือเชื่อมั่นมาโดยตลอด และ อยากเห็นวัฒนธรรมทางการเมืองไทยแบบนี้เป็นรากฐานใหม่ของการเมืองไทย

สรุปคือไม่มีการย้ายพรรคครับ !!!

“Seamless politics” is a concept that refers to a political environment or system where different political parties or entities work together smoothly and effectively without experiencing significant disagreements, conflicts, or disruptions. In a seamless politics scenario, there is a high level of cooperation, collaboration, and communication among different stakeholders in the political arena. This leads to more efficient governance, better decision-making processes, and potentially improved outcomes for society as a whole.