“เรืองไกร” ร้อง “ป.ป.ช.” สอบ ครม. เห็นชอบโครงการ Digital Wallet

17

“เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” ร้อง “ป.ป.ช.” สอบ “ครม.-จนท.รัฐ” เห็นชอบโครงการ Digital Wallet ฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นการทุจริตเชิงนโยบาย เพื่อเอื้อพวกพ้อง และ ทุนใหญ่

วันที่ 28 เม.ย. 2567 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า จากการติดตามโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่คณะรัฐมนตรีพึ่งมีมติให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 67 นั้น ในเอกสารของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ใช้ในการพิจารณาประกอบการลงมติของคณะรัฐมนตรีมีข้อสังเกตหลายประเด็นที่ควรตรวจสอบ ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 67 มีหลายหน่วยงานเสนอความเห็นหรือข้อสังเกตในลักษณะที่ชี้ให้เห็นว่าโครงการดังกล่าวยังมีปัญหาหลายประการ และอาจจะไม่เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้ร่วมกันออกมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน

นายเรืองไกร กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากหนังสือที่ ป.ป.ช. เคยเสนอต่อคณะรัฐมนตรีไปก่อนหน้านี้ กับข้อเสนอแนะและข้อสังเกตของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงบประมาณ คณะกรรมการกฤษฎีกา สภาพัฒน์ฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) กรณี จึงมีเหตุที่ควรขอให้ ป.ป.ช. เข้ามาตรวจสอบโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ดังนี้

– กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วน รวมถึงจัดให้มีการติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์ และรายงานผลการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวอย่างเหมาะสมต่อสถานการณ์โดยเคร่งครัด หรือไม่

– กระทรวงการคลังได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแหล่งเงินโดยการดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวนประมาณ 172,300 ล้านบาท โดยการมอบหมายให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการ ใช่หรือไม่ และเป็นการดำเนินการที่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์และในหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของ ธ.ก.ส. ตามพ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2509 ทั้งนี้ ตามนัยมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และกระทรวงการคลังกับ ธ.ก.ส. จะต้องจัดทำแผนบริหารจัดการโครงการ ประมาณการรายจ่าย แหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการ ประมาณการสูญเสียรายได้ และประโยชน์ที่จะได้รับ และเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติในรายละเอียดก่อนดำเนินโครงการตามนับมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย หรือไม่

– กระทรวงการคลังมีการใช้แหล่งเงินงบประมาณประจำปีเป็นแหล่งเงินสำหรับการดำเนินโครงการ โดยเป็นไปตามเงื่อนไขทางการคลังและกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ หรือไม่ การดำเนินโครงการในวงเงิน 172,300 ล้านบาท สอดคล้องกับขอบเขตวัตถุประสงค์และกฎหมายการจัดตั้งหน่วยงานที่จะดำเนินการและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรือไม่ รายละเอียดโครงการดังกล่าวได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนดำเนินการ หรือไม่ การจัดทำแพลตฟอร์มเพื่อใช้ในการดำเนินการโครงการฯ เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น หรือไม่

– คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนและนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมทั้งจัดทำแนวทางหรือมาตรการแก้ไขประเด็นปัญหาหรือความเสี่ยงต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมด้วย ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาให้ความเห็นชอบในกรอบหลักการของโครงการ DW ต่อไป หรือไม่ หากไม่มีการมอบหมายก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะลงมติ จะถือว่า คณะรัฐมนตรีเข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรือไม่

– จากข้อสังเกตของ สพร. แสดงว่า คณะรัฐมนตรีลงมติไปโดยที่หลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับการออกแบบและพัฒนาระบบเพื่อรองรับการใช้จ่ายและการชำระเงินที่เกี่ยวข้องกับ Open Loop ยังไม่ชัดเจนเพียงพอ การลงมติของคณะรัฐมนตรีจะเข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือไม่

นายเรืองไกร กล่าวสรุปว่า ในวันนี้ ตนจึงได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ไปถึง ป.ป.ช. เพื่อขอให้ตรวจสอบว่า “โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet มีความพร้อมที่จะทำ จริงหรือไม่ มีการฝ่าฝืนกฎหมายและเข้าข่ายการทุจริตเชิงนโยบาย หรือไม่ และมีเจตนาแอบแฝงเพื่อเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือไม่ นอกจากนี้มีการป้องกันการทุจริตตามข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. หรือไม่ และครม.รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐผู้ใดที่ร่วมกันทำโครงการนี้จะมีความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรือไม่”นายเรืองไกร กล่าว