สัญญาณฟื้นสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ

1632

มากกว่า 20 ปีที่ไทยและซาอุดิอาระเบีย ได้ลดความสัมพันธ์เหลือเพียงระดับอุปทูตจากปัญหาคดีเพชรซาอุฯ  ,  คดีสังหารนักธุรกิจ และการลอบสังหารนักการทูตซาอุฯ ล่าสุดในเพจเฟซบุ๊กของ นายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ) ในโพสต์บทความของ “สิริอัญญา”  ในหัวข้อ “ต้อนรับการเจรจาเพื่อฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ” มีรายละเอียดสำคัญดังนี้ “ประเทศไทยและประเทศซาอุดิอาระเบียเคยเป็นมิตรไมตรี ที่ลึกซึ้งแนบแน่นและอำนวยประโยชน์แก่กันมาเป็นเวลาช้านานแล้ว เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนสถานการณ์แรงงานของประเทศไทยที่มีการเคลื่อนย้ายแรงงานภาคอุตสาหกรรมไทยไปต่างประเทศเป็นครั้งแรกและครั้งใหญ่ที่สุดเมื่อ 50 ปีก่อน แต่เพราะการทุจริต การฉ้อฉล การบิดเบือน การใช้อำนาจ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงทำลายความสัมพันธ์นี้อย่างน่าอเนจอนาถ ทำให้เกิดความห่างเหินเกิดขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศเป็นเวลาเกือบ 30 ปีมาแล้ว
หลายห้วงเวลาในช่วง 30 ปีมานี้ได้มีความพยายามที่จะฟื้นคืนความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นดังเดิม และอำนวยประโยชน์แก่กันดังเดิม แต่ไม่สำเร็จ! แม้กระทั่งนักการเมืองบางพวกได้ฉวยโอกาสเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับพวกตน ตั้งล็อบบี้ยิสต์และวิ่งเต้นสารพัด รวมทั้งเตรียมการใส่ร้ายป้ายสีเกี่ยวกับคดีความในอดีตเพื่อเอาอกเอาใจ แต่กระนั้นก็ไม่สามารถฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบียให้กลับคืนมาได้

หลังจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางกลับจากการเยือนบาห์เรนอย่างเป็นทางการ นายกรัฐมนตรีก็ได้แถลงครั้งสำคัญว่า ในระหว่างการเดินทางเยือนประเทศบาห์เรนอย่างเป็นทางการนั้น ได้มีโอกาสเจรจาหารือกับผู้บริหารระดับสูงของประเทศซาอุดิอาระเบียด้วยและในโอกาสนั้นก็สามารถตกลงกันในหลักการได้ว่าทั้งสองประเทศจะริเริ่มการเจรจาและการดำเนินการทั้งปวงเพื่อฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบีย อีกครั้งหนึ่ง โดยทั้งสองฝ่ายจะมองไปข้างหน้าเพื่ออนาคตที่จะอำนวยประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

ถือว่าเป็นชัยชนะและความสำเร็จในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ของรัฐบาล และของ คสช. ครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งและอีกเรื่องหนึ่งที่จะอำนวยประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างใหญ่หลวงต่อไป

ภายใต้สถานการณ์อันเป็นไปในปัจจุบันนี้จำเป็นที่จะต้องรู้จักและทำความเข้าใจประเทศซาอุดิอาระเบียให้ถ่องแท้สักครั้งหนึ่งประการแรก ซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศอิสลามและเป็นมหาอำนาจอยู่ในตะวันออกกลาง เป็นศูนย์กลางกลุ่มประเทศสันนิบาตอาหรับ และเป็นศูนย์กลางของโอเปกหรือกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เป็นประเทศที่มั่งคั่งร่ำรวยมาแต่ก่อน มีประเทศและประชากรที่อยู่ในเครือข่ายไม่น้อยกว่า 500 ล้านคน เป็นแหล่งตลาดที่มีความต้องการผลผลิตและแรงงานไทยมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก

ประการที่สอง ซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม สำนักคิดวาฮาบี และเป็นศูนย์กลางสำนักคิดวาฮาบีของโลก ซึ่งมุ่งเผยแพร่ขยายนิกายวาฮาบีไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย โดยมีศูนย์กลางใหญ่อยู่ที่จังหวัดยะลาในขณะที่ประเทศอียิปต์เป็นศูนย์กลางของศาสนาอิสลาม สำนักคิดซุนหนี่ โดย ประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งมีชาวมุสลิมไทยดั้งเดิมส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม สำนักคิดซุนหนี่ สำหรับประเทศไทยมีศูนย์กลางอยู่ที่สำนักจุฬาราชมนตรี

ในขณะที่ประเทศอิหร่านเป็นศูนย์กลางของศาสนาอิสลาม สำนักคิดชีอะห์ และก็มีชาวมุสลิมสำนักคิดชีอะห์อยู่ในประเทศไทยมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

ประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียไม่ยินดีต้อนรับการเผยแพร่นิกายวาฮาบี ในขณะที่ประเทศไทยเปิดเสรีภาพในการนับถือทางศาสนา ดังนั้นประเทศไทยจึงเป็นที่ยินดีของประเทศและชาวมุสลิมทั่วโลก

ประการที่สาม หลังสงครามหกวันกับอิสราเอลเมื่อหลายสิบปีก่อน อียิปต์อ่อนแอลง จึงส่งผลต่อการเผยแพร่นิกายซุนหนี่ แต่ทว่าปัญหาความขัดแย้งภายในระหว่างสำนักคิดวาฮาบีและชีอะห์ได้ตกทอดมาถึงปัจจุบันด้วย จึงเป็นเหตุสำคัญให้มีความขัดแย้งระหว่างซาอุดิอาระเบียและอิหร่าน ซึ่งต่างก็เป็นมหาอำนาจในโลกมุสลิม ที่มีความมั่งคั่งและแข็งแกร่งโดยสภาพ

ทั้งสามประการนี้ จึงเกิดการแข่งขันในการสร้างมิตรทั่วโลกระหว่างซาอุดิอาระเบียและอิหร่าน ซึ่งทั้งสองประเทศนี้ก็มีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทยมายาวนานด้วยกันตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมาหลายรัฐบาลยอมอยู่ภายใต้การบงการชี้นิ้วของมหาอำนาจต่างประเทศ ตั้งข้อรังเกียจไม่คบหากับประเทศอิหร่าน ทั้งที่ประเทศอิหร่านก็พยายามแสดงท่าทีที่เป็นมิตรเช่นเดียวกับที่เป็นมา 464 ปีมาแล้ว
จึงก่อเกิดสภาพที่แปลกประหลาดขึ้นคือไทยง้อขอคืนดีกับซาอุดิอาระเบีย แต่ซาอุดิอาระเบียก็นิ่งเฉย ในขณะที่อิหร่านงอนง้อต้องการยกระดับความสัมพันธ์กับไทย แต่ไทยก็นิ่งเฉยกระทั่งมาถึงรัฐบาลปัจจุบันที่ไม่ยอมอยู่ใต้บงการของชาติใด ไทยจึงได้เริ่มคบหากับอิหร่าน ซึ่งริเริ่มโดยรองนายกรัฐมนตรีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้พบปะกับเอกอัครราชทูตของอิหร่านและมีการแลกเปลี่ยนการเยี่ยมเยือนในระดับสูงกันมาหลายครั้งแล้ว จากนั้นบุคคลระดับสูงของซาอุดิอาระเบียก็ได้พบปะหารือกับผู้นำของรัฐบาลอย่างไม่เป็นทางการ การตกลงฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบีย ที่บาห์เรนจึงเป็นมิติใหม่และเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในกิจการต่างประเทศของรัฐบาล ขอผองเราจงพร้อมใจกันต้อนรับการฟื้นฟูทางไมตรีกับซาอุดิอาระเบียเพื่อประโยชน์แห่งประเทศชาติและประชาชนอย่างพร้อมเพรียงกัน”
Tnews