ม.ธรรมศาสตร์ จัดหัวข้อ “สังคม เศรษฐกิจ การเมือง : สามมุมมองต่อการพัฒนาเยาวชนสู่สังคมโลก” เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา โดย เสถียร เสถียรธรรมะ ซีอีโอคาราบาวกรุ๊ป เป็นหนึ่งในวิทยากร
เสถียร ในฐานะศิษย์เก่า เข้านักศึกษาใหม่ด้วยวัย 21 ปี มากกว่าเพื่อนคนอื่น เพราะเขาไม่ได้ผ่านการเรียนในระดับมัธยมศึกษา จบ ป.4 แล้วออกไปทำงานตั้งแต่อายุเพียง 11 ขวบ ได้เงินเดือนครั้งแรก 50 บาท
ด้วยความใฝ่รู้ เก็บออมมาเรื่อย ๆ จนอายุ 18 ปี ไปเรียนกวดวิชา 6 เดือนสอบเทียบได้ ป.7 และอีก 6 เดือนต่อมา สอบเทียบ ม.ศ.3 หลังจากนั้นอีก 8 เดือน จึงสอบเทียบได้ ม.ศ.5 จนได้เข้ามาเรียนในรั้วธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อปี 2518
เสถียรบอกว่า “มีต้นทุนที่ต่ำ” กว่าเพื่อนโดยส่วนใหญ่ เมื่อเทียบฐานะทางเศรษฐกิจและด้านอื่น ๆ
บรรยากาศทางการเมืองของไทยขณะนั้น เป็นช่วงที่มีการต่อสู้ทางอุดมการณ์อย่างเข้มข้น หลังเกิดเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 เขาตัดสินใจหลบหนีภัยเผด็จการเข้าไปอยู่ในป่า พร้อมกับเพื่อนนักศึกษา โดยไปเป็นทหารป่ากว่า 4 ปี ก่อนจะกลับออกมาเมื่ออายุ 24 ปี
“ตอนนั้นผมออกจากป่าด้วยความรู้สึกว่า เป็นคนที่พ่ายศึก แพ้สงคราม สิ่งนี้กัดกร่อนจิตใจของผมนาน 3 ปี ที่สำคัญชีวิตผมที่ช้าอยู่แล้ว ยิ่งช้าลงไปอีก เพื่อนรุ่นเดียวกันหลายคนเรียนดีได้เป็นอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ อีกหลายคนสอบได้เป็นอัยการ บางคนสอบเป็นผู้พิพากษา”
ความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ในชีวิต
ด้วยความเป็นนักสู้ มีมานะพยายาม “เสถียร” กลับเข้าไปเรียนที่ธรรมศาสตร์อีกครั้งใน 2 ปีถัดมา ด้วยวัยเกือบ 30 ปี แต่ที่สุดก็ต้องละทิ้งความมุ่งมั่นแต่แรกที่จะเรียนให้จบมหาวิทยาลัย
“ผมต้องปล่อยมันไป ทั้ง ๆ ที่เป็นสิ่งที่ผมมุ่งมั่นมาตลอดชีวิตตั้งแต่เด็ก การตัดสินใจที่จะไม่กลับมาเรียนต่อที่ธรรมศาสตร์อีกนั้น ผมถือเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ในชีวิต” เขาบอกช่วง 50-60 ปีก่อน สิ่งที่จะช่วยเปลี่ยนสถานะของผู้คนในสังคมที่เกิดมายากจนได้ มีแต่การศึกษาเพียงอย่างเดียว
เมื่อตัดสินใจไม่เรียนต่อ “เสถียร” เริ่มต้นทำธุรกิจเปิดร้านโชห่วย ด้วยเงินทุน 12,000 บาท จากการช่วยเหลือของพี่น้องเขาเอง จนขยับมาเป็น “โรงงานทำตะปู” หุ้นกับเพื่อน ๆ และมีโอกาสทำธุรกิจอีกหลายอย่าง
“ต้องล้มลุกคลุกคลาน เคยไม่มีแม้แต่เงินขึ้นรถเมล์ เคยเดินตั้งแต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนถึงซอยแบริ่งที่สมุทรปราการ”
“ตอนนั้นผมหาเงินเข้าเช็คไม่ทัน เช็คเด้งเป็นเรื่องปกติ ความรู้สึกท้อต่อโชคชะตาตัวเองเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่สุดท้าย ค่อย ๆ ลุกยืนขึ้นมา ชีวิตผมช้ากว่าคนอื่น อายุ 36 เพิ่งนั่งเครื่องบินครั้งแรก ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ผู้คนรู้จักผมว่าทำธุรกิจสำเร็จเมื่อตอนอายุ 60 ปีแล้ว”
โอกาสซ่อนอยู่หลังเป้าหมาย
เขาบอกว่า ไม่ว่าฐานะครอบครัวคุณจะเป็นอย่างไร เมื่อคุณมีความมานะพยายามจนสอบเข้ามาเรียนในธรรมศาสตร์ ทุกคนอยู่ในจุดที่เท่ากัน “ความเท่ากัน” ในที่นี้หมายถึง จุดที่เท่ากันในการแสวงหาความสำเร็จในชีวิต
ไม่ว่าประเทศชาติบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ก็ไม่สามารถที่จะทำลายโอกาสของพวกเรา ในการสร้างฐานะให้กับตนเองและครอบครัว รวมทั้งการอุทิศตนเพื่อทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ
“ขอแต่ให้มีความมุ่งมั่น โอกาสมีอยู่เสมอ โอกาสจะซ่อนอยู่หลังเป้าหมาย” ดังนั้น จงตั้งเป้าหมายและเดินไปหามัน แต่ถ้ายังหาโอกาสไม่เจอ ก็ต้องสร้างมันขึ้นมา เพราะ “โอกาส” เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นได้ และสามารถสร้างขึ้นมาได้ตลอดชีวิต ถ้าเรามุ่งมั่นที่จะ “เรียนรู้” ตลอดชีวิต
โลกที่อยู่ทุกวันนี้มีมหาอำนาจมาทุกยุคทุกสมัย คำถามอยู่ที่ว่า เราจะอยู่กับมหาอำนาจนั้นได้อย่างไร
“นักศึกษาจะได้เรียนรู้ว่า ทำไมธุรกิจใหญ่ ๆ ที่สำคัญของประเทศไทย จึงถูกผูกขาด ควบคุม โดยผู้ประกอบการเพียงไม่กี่ราย คุณจะได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากที่นี่ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”
“ไม่ว่าต้นทุนชีวิตคุณจะเป็นมาอย่างไร จะเคยล้มกี่ครั้ง คุณก็สามารถจะกลับมาได้ ขอแต่ไม่ยอมแพ้เท่านั้น”