ครอบครัว’อยู่วิทยา’ มอบเครื่องสแกนม่านตาลดตาบอดในเด็ก-สนับสนุน 3 สถาบัน วิจัยโรคตาบอดในเด็ก

31

ครอบครัว “อยู่วิทยา” มอบเครื่องสแกนม่านตา ลดการตาบอดในเด็ก พร้อมสนับสนุน 3 สถาบัน วิจัยโรคตาบอดในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด หวังให้เด็กไทยเติบโตพร้อมกับดวงตาที่สมบูรณ์

เมื่อเร็วๆ นี้ ศ.ดร.นีล เอ็ม. เบรสเลอร์ และ ศ.ดร.จุน คอง จากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ พร้อมด้วย ผศ.พญ.อัจฉรียา วิวัฒน์วงศ์วนา หัวหน้าหน่วยจักษุวิทยาเด็กและตาเข ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รศ.พญ.วรพร ชัยกิจมงคล ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แถลงงานวิจัยโครงการป้องกันการตาบอดในเด็กในประเทศไทย ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

โดย ศ.ดร. นีล เอ็ม. เบรสเลอร์ เปิดเผยว่า จากงานวิจัยพบว่า เด็กจำนวนมากในประเทศไทยและทั่วโลก เมื่อคลอดก่อนกำหนดจะเสี่ยงต่อการตาบอด จากการเจริญเติบโตของหลอดเลือดใหม่บนผิวจอประสาทตา ซึ่งเรียกว่า โรคจอประสาทตาผิดปกติในทารก ซึ่งปัจจุบันเด็กส่วนใหญ่ทั่วโลกได้รับการตรวจโดยวิธีส่องกล้องตา ซึ่งใช้แสงสว่างจ้า เพื่อให้มองเห็นจอประสาทตา แต่การตรวจนี้ทำให้เด็กทารกเครียด และมีความเสี่ยงทางการแพทย์ จึงต้องให้จักษุแพทย์ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการประเมินผู้ป่วยตรวจ แต่หลายภูมิภาคและในประเทศโลกที่สาม มีจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ไม่กี่คน ที่สามารถตรวจได้ด้วยกล้องส่องตา โดยมีความเครียดต่อทารกน้อยที่สุด จึงเป็นที่มาของ “โครงการวิจัยการป้องกันการตาบอดในเด็กในประเทศไทย” หวังช่วยเด็กแรกเกิดที่คลอดก่อนกำหนด สามารถเจริญเติบโตพร้อมกับการมีดวงตาที่สมบูรณ์ ภายหลังพบว่าเด็กแรกเกิดจำนวน 4-5 หมื่นคนต่อปี มีเด็กทารกที่เกิดก่อนกำหนดอย่างน้อย 1 ใน 1,000 คน ในประเทศไทยตาบอด และ 2 ใน 3 เกิดจากโรคจอประสาทตาผิดปกติ ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาพบว่า หากเด็กเหล่านี้ได้รับการตรวจที่รวดเร็วจากผู้เชี่ยวชาญด้านตาเด็กโอกาสที่ทารกจะตาไม่บอดมีสูง รวมถึงการเฝ้าสังเกตต่อเนื่อง 1-2 สัปดาห์ แต่หากล่าช้าไม่ได้รับการตรวจที่ถูกต้องผ่าน 4 สัปดาห์เด็กทารกอาจจะเสี่ยงตาบอดได้ 25-30% โดยเฉพาะเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนดและอยู่พื้นที่ห่างไกลโรงพยาบาลที่มีผู้เชียวชาญด้านดวงตาเด็ก

“ผมได้นำเสนอโครงการฯ ดังกล่าวให้ คุณเฉลิม อยู่วิทยา นักธุรกิจแนวหน้าของประเทศไทย จึงได้รับการสนันสนุนเงินทุนสำหรับพัฒนางานวิจัยและจัดซื้ออุปกรณ์กล้องถ่ายภาพจอประสาทตาแบบมุมกว้างสำหรับเด็ก จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์จอห์นฮอปกินส์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัย จากประเทศจีนที่มีประสบการณ์และมีความเชียวชาญด้านนี้” นีล เอ็ม. เบรสเลอร์ กล่าวและว่า ปัจจุบันกล้องถ่ายภาพจอประสาทตา ถือเป็นเครื่องที่ล้ำสมัย และเชื่อว่าอนาคตจะมีการพัฒนา เพื่อให้ได้เครื่องที่สมบูรณ์ที่สุด รวมถึงนำข้อมูลมาประกอบการวิจัยด้วย ซึ่งจะมีการพัฒนาโปรแกรมระบบเอไอ เพื่อช่วยอ่านค่าตาเด็กได้อย่างเร็วและแม่นยำ พร้อมย้ำว่า ภาวะเสี่ยงโรคจอประสาทตาเสื่อมและตาบอดของเด็กไทย หากรักษาเร็ว ป้องกันและหายได้

ด้าน จุน คอง ถอดประสบการณ์ในประเทศจีน ซึ่งมีประชากรจำนวนมาก ทำให้ผู้ป่วยเด็กทารกเกิดก่อนกำหนดมีจำนวนมากเช่นกัน โดยที่จีนมีการทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์เด็กและแพทย์ทางตา เพื่อจะได้รักษาเด็กแรกคลอดได้ตรงกับโรค และปัจจุบันนี้ผู้ป่วยเด็กทารกเกี่ยวกับตาก็เริ่มลงน้องลงตามลำดับ

ผศ.พญ.อัจฉรียา เปิดเผยว่า โครงการฯ วิจัย กำลังเร่งพัฒนาระบบแพทย์ทางไกล เพื่อส่งข้อมูลผู้ป่วยเด็ก ซึ่งคาดว่าในอนาคตนี้จะสะดวกรวดเร็วช่วยเหลือเด็กแรกเกิดได้ทันก่อนตาเด็กจะบอด สำหรับกล้องถ่ายภาพจอประสาทตาแบบมุมกว้างสำหรับเด็กในประเทศไทยมีประมาณ 10 เครื่อง โดย 1 เครื่องอยู่ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่