อบจ.สงขลานำทีมจับมือ5องค์กรปราบหนอนหัวดำระบาดทำลายมะพร้าว

5 ประสาน จับมือควบคุมหนอนหัวดำมะพร้าว แมลงดำหนาม ระบาดในดงมาพร้าวสงขลา อบจ.สงขลาตั้งทีมล่า

การประชุมเพื่อรับมือการระบาดทำลายของหนอนหัวดำมะพร้าว ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 จัดขึ้นที่สำนักงานเกษตรอำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา มีผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน โดยมีนายไพเจน มากสุวรรณ์ นายก อบจ.สงขลา เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วยที่ปรึกษานายกอบจ สจ. อำเภอกระแสสินธุ์ และมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา เกษตรจังหวัดสงขลา เกษตรอำเภอ สิงหนคร ระโนด กระแสสินธุ์ ประธานกลุ่มมะพร้าวแปลงใหญ่ตำบลชุมพล ตำบลบ่อแดง นักส่งเสริมจากกองส่งเสริมการเกษตร อบจ.สงขลา เกษตรกรผู้นำ อาสาสมัครเกษตรอบจ. หมอพืชอบจ. เกษตรกร โดยสรุปสาระสำคัญจากการประชุม มีดังนี้

1. นโยบายนายไพเจน มากสุวรรณ์ ประธานการประชุม แจ้งที่ประชุมทราบถึงศักยภาพ มะพร้าวน้ำหอม ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ของจังหวัดสงขลา โดยเฉพาะในพื้นที่ คาบสมุทรสทิงพระเป็นเขตพื้นที่ที่มีความเหมาะสมที่จะเป็นอาชีพทางเลือกแก่เกษตรกรได้ดีในพื้นที่นา ที่ไม่เหมาะสม สำหรับการประชุมหารือ เพื่อแก้ไขปัญหาหนอนหัวดำ แมลงดำหนามในวันนี้ จะเป็นความร่วมมือ ของภาคส่วนต่างๆ ช่วยกัน รับมือกับปัญหา ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หลังพบการแพร่ระบาดของศัตรูมะพร้าวทั้งสองชนิด และในส่วนที่ เกินกำลัง ของหน่วยงาน กระทรวงเกษตร องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ก็มีกองส่งเสริมการเกษตร ที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็ม เพื่อให้งาน บรรลุผลสำเร็จ

2.ข้อมูลการระบาดของหนอนหัวดำ แมลงดำหนาม ผู้แทนสำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา รายงาน ข้อมูลระหว่าง วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม ถึง วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 พื้นที่ปลูกมะพร้าวรวม 24,492.30 ไร่ มีเกษตรกรปลูก 13,519 ราย พบพื้นที่ระบาด 314 ไร่ ในแปลง เกษตรกร 108 ราย ร้อยละ 1.28 ของพื่้นที่ พบระบาดมากในอำเภอสทิงพระ และระโนด โดยแยกตามชนิดมะพร้าวได้แก่
มะพร้าวอ่อน พื้นที่ปลูก 15,938.55 ไร่ เกษตรกร 6,993 ราย พบพื้นที่ระบาด 269 ไร่ หรือร้อยละ 1.69 ในเกษตรกร 88 ราย
มะพร้าวแกง พื้นที่ปลูก 8,553.75 ไร่ เกษตรกร 6,526 ราย พบพื้นที่ระบาด 45 ไร่ หรือร้อยละ 0.53 ในแปลงเกษตรกร 20 ราย
ซึ่งช่วงเดือนนี้ เป็นฤดูฝน จะพบการระบาดน้อยกว่าในช่วงฤดูแล้ง

3. องค์ความเรื่องหนอนหัวดํามะพร้าว ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร สงขลา และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 ให้ข้อมูลลักษณะพฤติกรรมการระบาดทําลาย หนอนหัวดํามะพร้าว เข้าทําลายโดยจะแทะกินผิวใบบริเวณใต้ทางใบ จากนั้นจะ ถักใยนํามูลที่ถ่ายออกมาผสมกับเส้นใยที่สร้างขึ้น นํามาสร้างเป็นอุโมงค์คลุมลําตัวยาวตามทางใบบริเวณ ใต้ทางใบ โดยทั่วไปหนอนหัวดํามะพร้าวชอบทําลายใบแก่ หากการ ทำลายรุนแรงจะทบว่า หนอนหัวดำมะพร้าวทําลายก้านทางใบ จั้น และผลมะพร้าว
ตัวเต็มวัย ของหนอนหัวดํามะพร้าวเป็นผีเสื้อกลางคืน ขนาดลําตัววัดจากหัวถึงปลายท้องยาว1-1.2 เซนติเมตร ปีกสีเทาอ่อน มีจุดสีเทาเข้มที่ปลายปึก ลําตัวแบน ชอบเกาะนิ่งตัวแนบติดผิวพื้นที่เกาะ เวลากลางวัน จะเกาะ นิ่งหลบอยู่ใต้ใบมะพร้าว หรือในที่ร่ม ผีเสื้อหนอนหัวดํามะพร้าวเพศเมียสามารถวางไข่ตั้งแต่ 49 ถึง 490 ฟอง
ระยะไข่ 4 – 5 วัน การเจริญเติบโต ของหนอนหัวดํา มะพร้าวในประเทศไทย พบว่าหนอนหัวดํามะพร้าวส่วนใหญ่จะเจริญเติบโตและมีการลอกคราบ 6 – 10 ครั้งได้ระยะหนอน 32 – 48 วัน
พืชอาหาร พืชอาหารของหนอนหัวดำมะพร้าว ได้แก่ มะพร้าว ตาลโตนด อินทผลัม หมาก ปาล์มน้ำมัน ปาล์มประดับ ต่างๆ เช่น ตาลฟ้า ปาล์มหางกระรอก หมากเขียว หมากแดง เป็นต้น

4. มาตรการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน
สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา และ สำนักงานเกษตรอำเภอ มีมาตรการจัดการหนอนหัวดำมะพร้าว
แผนระยะสั้น/เร่งด่วน การสำรวจพื้นที่การระบาดทำลายให้การแนะนำการปล่อยแตนเบียนศัตรูธรรมชาติ สนับสนุนแตนเบียน แนะนำ วิธีควบคุมด้วยสารเคมีในพื้นที่ระบาดปานกลางและรุนแรง เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเป็นวงกว้าง ติดตามเฝ้าระวังในพื้นที่ใกล้เคียงหรือพื้นที่เสี่ยง และพื้นที่ที่มีการปลูกมะพร้าว
แผนระยะปานกลาง สร้างการรับรู้ และความตระหนัก หนอนหัวดำศัตรูมะพร้าว และวิธีการจัดการแบบผสมผสาน อบรมให้ความรู้ในการผลิตแมลงศัตรูธรรมชาติ รณรงค์การปล่อยแมลงศัตรูธรรมชาติในช่วงก่อนเกิดการระบาด เฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่ผ่าน ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) หมอพืชชุมชน หรือ อกม. ติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง
และมีแผนการจัดตั้งศูนย์บริการชีวภัณฑ์ชุมชนในการผลิตขยายแมลงศัตรูธรรมชาติ
แผนระยะยาว สร้างการรับรู้ และความตระหนัก เรื่อง ศัตรูมะพร้าวอย่างต่อเนื่อง
สร้างความเข้มแข็งให้ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนหรือศูนย์บริการชีวภัณฑ์ชุมชน ในการผลิตขยายแมลงศัตรูธรรมชาติ และปล่อยในพื้นที่เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง จัดทำชุมชนต้นแบบการจัดการศัตรูมะพร้าวด้วยวิธีผสมผสาน สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร และองค์กรเกษตรกรเพื่อพึ่งพาตนเองและมีความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ศัตรูพืชได้ในอนาคต
ติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง

สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 และศวพ.สงขลา ได้ดำเนินการให้ความรู้ สร้างการรับรู้ ให้คำแนะนำวิธีการป้องกันกำจัดตามคำแนะนำ IPM หรือวิธีผสมผสาน เช่น การใช้วิธีเขตกรรมและวิธีกล โดยตัดใบที่มีหนอนหัวดำมะพร้าวนำไปเผาทำลายทันทีการใช้ชีววิธี โดยการปล่อยแตนเบียนที่เฉพาะเจาะจงกับหนอนหัวดำมะพร้าว คือ แตนเบียน และ การใช้สารเคมี และการจัดทำชุมชนต้นแบบเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี

กองส่งเสริมการเกษตรองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาได้ดำเนินการจัดฝึกอบรม ให้ความรู้เกษตรกร ในประเด็นต่างๆ ทำการเชื่อมโยงเครือข่าย ช่วยสร้างการรับรู้ เผยแพร่ความรู้ และร่วมสนับสนุน การดำเนินงาน ตามบทบาทภารกิจ และกรณีหน่วยราชการมีงบดำเนินงานที่จำกัดไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาในจังหวัดสามารถของบร่วมดำเนินงานกับอบจ.ได้

กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ ตำบลบ่อแดง และตำบลชุมพล อำเภอ สทิงพระ
ได้มีการทดลองแก้ไขปัญหานอนหัวดำ ด้วยวิธีการต่างๆเช่น การตัดทางใบ การใช้สารเคมี การขอแตนเบียน จากหน่วยราชการมาปล่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้สังเกตพบว่า ในสวนนี้ ที่มีการ ดูแล ใส่ปุ๋ยให้น้ำ อย่างดี จะพบการระบาด ของหนอนหัวดำ น้อยกว่า แปลง ที่ ไม่ค่อยมีการดูแลรักษา

นอกจากนั้นที่ประชุมได้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และ สรุปแนวทางของการขับเคลื่อน การแก้ไขปัญหาหนอนหัวดำจังหวัดสงขลา ดังนี้

1. ตั้งทีมหนอนหัวดำ สงขลา ที่ประกอบด้วยภาคส่วนต่างๆร่วมกันทำงานในระยะยาว (โดย อบจ.สงขลา)
2.จัดทำข้อมูล การจัดการความรู้(KM) และจำคำแนะนำการจัดการหนอนหัวดำใหม่ ที่ผสมผสานเอา วิธีทำคำแนะนำ ของทางราชการ ผสมผสาน กับภูมิปัญญาท้องถิ่น และความรู้จากงานวิจัยต่างๆ (ศวพ.สงขลา สวพ.8)
3. ตั้งทีมสแกนพื้นที่
ทำหน้า สำรวจข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ติดตามเฝ้าระวัง ชี้เป้า ในพื้นที่ ที่มีปัญหา เพื่อดำเนินการแก้ไขตั้งแต่ระยะเริ่มต้น (สนง.เกษตรจังหวัด)
4. ผลิตชีวภัณฑ์ แตนเบียน บาซิลลัส และให้บริการชีวภัณฑ์ ในรูปแบบที่เหมาะสม ทั้งในชุมชน และในหน่วยงานราชการ(ทุกหน่วย)
5. ให้ความรู้ เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง (ทุกหน่วยงาน)

หมายเหตุ การประชุมในวันนี้ สืบเนื่องมาจาก เกษตรกร ได้มีการ ปรึกษาปัญหา ในกลุ่มไลน์มะพร้าวน้ำหอมสงขลา เรื่อง แมลงศัตรูพืชระบาดในแปลง และสมาชิก เครือข่าย ได้ แลกเปลี่ยนความรู้ให้ข้อเสนอแนะ รวมทั้ง ลงไป ตรวจสอบ การระบาดในพื้นที่ ของเกษตรกร พร้อมกับ มีการนัดหมาย ประชุม ในวันนี้ เพื่อเป็นการ จัดการปัญหา ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว กิจกรรมดีๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของกลุ่มเครือข่าย สงขลามหานคร มะพร้าวน้ำหอม