อาจารย์ม.ธรรมศาสตร์ วิพากษ์นักการเมืองมุสลิม ‘ไม่มีจุดยืนชัดเจน ผันแปรตามอำนาจการเมือง’

ท่ามกลางดราม่า “กาสิโน” จึงอยากเขียนเรื่องนี้ (ให้อ่านง่าย ๆ) ในฐานะนักวิชาการ (มุสลิม) จากมุมมองของผู้ที่เรียนสายสามัญด้านชนกลุ่มน้อยศึกษา และพอมีความรู้ศาสนาอยู่บ้างครับ

ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ
คำถามหลักของประเด็นนี้คือ นักการเมืองมุสลิมควรมีท่าทีอย่างไรกับสถานการณ์เช่นนี้?
ผมจึงขอชี้ให้ท่านผู้อ่านเห็น “สถานะซ้อนทับ” ของนักการเมืองมุสลิม ซึ่งประกอบด้วยหลายชั้น ได้แก่
1️⃣ สถานะมุสลิม
2️⃣สถานะประชาชนชาวไทย
3️⃣สถานะมุสลิมที่เป็นประชาชนชาวไทย
4️⃣สถานะนักการเมือง
ทั้ง 4 สถานะมีมุมมองที่แตกต่างกัน ซึ่งผมจะขออธิบายให้เห็นภาพดังนี้
.
1️⃣สถานะมุสลิมมุสลิม

มีคัมภีร์อัลกุรอานและแนวทางของศาสดาเป็นธรรมนูญของชีวิต… กัญชา ยาเสพติด สิ่งมึนเมา และการพนัน—ในคัมภีร์อัลกุรอาน พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสห้ามไว้ในบทอัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 90 ว่า:يَـٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُوٓا۟ إِنَّمَا ٱلْخَمْرُ وَٱلْمَيْسِرُ وَٱلْأَنصَابُ وَٱلْأَزْلَـٰمُ رِجْسٌۭ مِّنْ عَمَلِ ٱلشَّيْطَـٰنِ فَٱجْتَنِبُوهُ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ (๙๐)

ความว่า: “โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย! แท้จริงสุรา การพนัน แท่นบูชา และการเสี่ยงติ้วนั้น เป็นสิ่งโสมมที่มาจากการกระทำของชัยฏอน ดังนั้นจงหลีกห่างจากมันเสีย เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ”

ดังนั้นในฐานะมุสลิม… #ชัดเจนว่าจากโองการดังกล่าว ทุกอย่างที่เป็นประเด็นดราม่าอยู่ในขณะนี้ล้วนเป็นสิ่งต้องห้ามโดยไม่มีข้อกังขา
.
2️⃣ สถานะประชาชนชาวไทย
ท่านผู้อ่านต้องเข้าใจก่อนว่า ในประเทศไทยมีประชาชนที่มาจากหลากหลายความเชื่อ และสิ่งที่ใช้เป็น “ข้อตกลงในการอยู่ร่วมกัน” คือรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งบางสิ่งแม้จะขัดกับหลักการศาสนา แต่กลับถูกต้องตามกฎหมาย

เช่น สุรา ที่ผิดทั้งหลักธรรมศีล 5 ผิดทั้งหลักอิสลาม และแม้แต่หลักศาสนาคริสต์ก็ห้ามเช่นกัน แต่กลับมีวางขายตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป
หรือเช่น “หวย” ที่เข้าข่ายการพนันอย่างชัดเจนก็ยังถูกกฎหมาย

ดังนั้นเมื่อบางสิ่งถูกต้องตามกฎหมาย สิ่งที่เราทำได้ คือ “ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือสนับสนุน” และ “ไม่ไปกล่าวโทษคนอื่น” ที่อาจเข้าไปมีส่วนร่วม

ซึ่งจะนำไปสู่สถานะที่ 3
.
3️⃣ สถานะมุสลิมที่เป็นประชาชนชาวไทย
สถานะนี้ค่อนข้างลักลั่น เพราะเราต้องอยู่ท่ามกลางสิ่งที่ขัดกับหลักศาสนาแต่กลับถูกกฎหมาย และอยู่ในสังคมที่สิ่งเหล่านี้พบเจอได้ในชีวิตประจำวัน

ที่สำคัญ เราเป็นมุสลิมในฐานะ “คนส่วนน้อย” ที่คนส่วนใหญ่มิได้นับถือศาสนาอิสลาม
การวางตัวในฐานะมุสลิมที่เป็นพลเมืองไทยจึงมีความสำคัญมาก
หลายครั้งที่เรายกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญขึ้นมาอ้าง แต่กลับไปริดรอนสิทธิ์ของผู้อื่นตามรัฐธรรมนูญ ด้วยการนำหลักความเชื่อของเราไปใช้เป็นบรรทัดฐานของสังคมทั้งหมด

ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมนำมาซึ่งแรงต่อต้านจากสังคมในทันที

สิ่งที่มุสลิมที่เป็นพลเมืองไทยพึงกระทำต่อประเด็นที่ขัดกับหลักศาสนาแต่ยังไม่ถูกตราเป็นกฎหมาย หรือกำลังจะถูกตราเป็นกฎหมาย คือ:

ออกมาเรียกร้องตามสิทธิ์ เช่น
▪ รวบรวมรายชื่อเสนอรัฐสภา
▪ เสนอผ่านตัวแทนผู้แทนราษฎร
▪ ออกมาแสดงจุดยืนอย่างสันติ ฯลฯ

แต่หากถูกบัญญัติเป็นกฎหมายแล้ว สิ่งที่พึงกระทำคือ:

สอนลูกหลานไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้อง

สอนให้รู้จักพระเจ้า เคารพในข้อห้าม และละทิ้งในสิ่งที่ศาสนารังเกียจ

นี่คือสิ่งที่มุสลิมทำได้ภายใต้กรอบของกฎหมาย
.
4️⃣ สถานะนักการเมือง (มุสลิม)
เมื่อ “การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร” นักการเมืองมุสลิมยิ่งต้องตระหนักอยู่เสมอว่า
#จุดยืนทางหลักศาสนาจะถูกปกป้องหรือไม่เมื่อกลุ่มการเมืองที่ตนฝักใฝ่เสนอสิ่งที่ขัดกับหลักศาสนา?

กรณี “กาสิโน” คือภาพสะท้อนชัดเจนของการไม่ยืนหยัดในหลักศาสนา
แต่กลับผูกโยงกับ “กลุ่มทางการเมือง” ที่ตนสังกัด

ก่อนหน้านี้นักการเมืองบางกลุ่มเคยคัดค้าน “กัญชา กระท่อม LGBTQ+” ด้วยเหตุผลด้านศาสนา และใช้เป็นประเด็นหาเสียง
แต่พอ “กาสิโน” ซึ่งขัดหลักศาสนาเช่นกัน ถูกเสนอโดยกลุ่มที่ตนฝักใฝ่ กลับเงียบสนิท ไม่มีการคัดค้านใด ๆ

นี่คือความไม่เป็นมาตรฐาน และแสดงให้เห็นถึงการยอมจำนนต่ออำนาจทางการเมือง
.
✅ ทางออกที่อยากเสนอ

หากท่านไม่สามารถค้านหรือทัดทานสิ่งที่ขัดกับศาสนาได้ ควรประกาศตั้งแต่ต้นว่า:
“หากมีนโยบายใดขัดกับหลักศาสนา ขอไม่สนับสนุน เพราะจุดยืนของอาตมาคือการเป็นนักการเมืองมุสลิมที่ดี และจะไม่สนับสนุนสิ่งที่ขัดกับหลักศาสนา”

หากฝ่ายการเมืองที่ร่วมมือด้วยยอมรับเงื่อนไขนี้ แสดงว่าเขาเข้าใจในจุดยืนของท่าน
แต่หากเขาบอกว่า “ไม่ได้ คุณต้องสนับสนุน” แปลว่าเขาเพียงแค่ต้องการคะแนนเสียงจากท่าน โดยไม่เข้าใจตัวตนของท่านเลย

และหากพรรคของท่าน ที่เสนอภาพลักษณ์ของ “พรรคมุสลิม” กลับยอมสนับสนุนสิ่งที่ขัดกับหลักศาสนา
นั่นย่อมหมายถึง การละทิ้งหลักการศาสนาอย่างเลี่ยงไม่ได้

และถ้ารู้ว่าจะรักษาความเป็น “พรรคมุสลิม” ไม่ได้ตั้งแต่ต้นก็ควรไปเป็นนักการเมืองและขายการเป็นพรรคการเมืองแบบปรกติที่มีตัวแทนมุสลิมิพื่อปกป้องผลประโยชน์และสิทธิต่างๆ การออกตัวแบบนี้ยังลดเสียงก่นด่าจากประชาชนได้ครับ
.
เมื่อจำแนกสถานะเหล่านี้แล้ว
ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านจะเห็นภาพนักการเมืองมุสลิมไทยที่ “ควรจะเป็น” ได้ชัดเจนขึ้น และเข้าใจความซับซ้อนของสถานะต่าง ๆ และการต่อสู้ระหว่างผลประโยชน์ทางการเมืองกับหลักการศาสนาได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
.
Wallahu a’lam
(อัลลอฮ์เท่านั้นทรงรอบรู้ที่สุด)

ด้วยความเคารพ
Posted by C.M.
รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ มีสันฐาน ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์