เปิดกันชัดๆ! การเมืองกลุ่มไหนทำแบงก์อิสลามพัง! เดินหน้าต่อจะต้องทำอย่างไร 

9228

 

กลับมาเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้งว่า จะยุบไอแบงก์หรือไม่ หลังนายกฯ ตั้งเป็นคำถามว่า จะยุบหรืออยู่ต่อ แต่ประเด็นที่สังคมให้ความสนใจก็คือ ทำไม ไอแบงก์ถึงเจ๊ง เป็นเพราะระบบหรือการบริหารและใครเป็นคนทำเจ๊ง ไปหาคำตอบกัน..

พล.ท.สมชาย วิรุฬหผล อดีตปธ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

“มีการโอนหนี้เสีย 48,000 ล้านบาท ไปให้ บริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (IAM)ซึ่งกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่บริหารแทน เป็นข้อสรุปว่า ไม่มีการยุบไอแบงก์แน่นอน” ศ.พลโท.ดร.สมชาย วิรุฬหผล อดีตประธานกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยหรือ “ไอแบงก์” กล่าวยืนยัน แม้นายกรัฐมนตรี จะตีกลับการเพิ่มทุน 18,000 ล้านบาทก็ตาม
“การขออนุมัติการเพิ่มทุนยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี แต่นายกฯ ต้องการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เพิ่มรายละเอียดบางประการ ไม่ใช่เป็นการตีกลับข้อเสนอ เพราะเป็นแนวทางที่ได้ผ่านการอนุมัติของคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจหรือซุปเปอร์บอร์ดแล้ว ซึ่งการขายหนี้เสียเพื่อไม่ให้ธนาคารมีปัญหาต้องถูกตรวจสอบ เพระาหากธาคารบริหารเอง เมื่อมีการแฮร์คัทหนี้มาก จะส่งผลต่อผู้บริหารธนาคาร

“ยืนยันได้ว่า ไม่มีการปิดธนาคารอิสลามฯแน่นอน เพราะได้มีการแก้ปัญหามาพอสมครแล้ว” ดร.สมชาย กล่าว

ปัญหาของธนาคารอิสลามฯ อยู่ตรงจุดไหน อดีตประธานบอร์ด ให้ข้อมูลว่า สมัยที่ตนเข้าไปประมาณปี 2550  ธนาคารอิสลามฯ มีสาขา 30-40 สาขา มีพนักงาน 300-400 คน แต่เมือออกมาประมาณปี 2552 ธนาคารได้ขยายกิจการเร็วมาก ภายใน 2-3 ปี ขยายสาขา 130 สาขา มีพนักงาน 3,000-4,000 คน บางสาขามีค่าเช่าแพง แต่ไม่มีคนใช้บริการน้อยมาก อาทิ สาขาเซ็นทรัลพระราม 9 ก็ไม่ทราบเหตุผลว่า ทำไมขยายสาขาเร็วขนาดนั้น

“ธนาคารอิสลามฯ มีขนาดผู้ใช้บริการที่เล็ก การขยายไปยังพื้นที่ๆไม่มีมุสลิม ทำให้มีปัญหาในการใช้บริการ ตอนที่ผมเข้าไปธนาคารมีภาวะขาดทุนประมาณ 700 ล้านเนื่องจากปริมาณผู้ใช้บริการมีน้อย ธรรมชาติของมุสลิมไม่กู้เงินมากนัก แต่ได้พยายามพัฒนาศักยภาพของธนาคารจนกลับมาได้กำไรประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี จากนั้นก็เกษียณอายุ ต้องพ้นจากบอร์ด แต่ก็พยายามเข้าไปให้คำแนะนำ หรือท้วงติงบางอย่าง แต่ไม่ได้รับการตอบสนองมากนัก” พล.ท.สมชาย กล่าว

พล.ท.สมชาย กล่าวว่า เมื่อมีการโอนหนี้เสียออกไป ธนาคารอิสลามฯ ก็สะอาด การเพิ่มทุนเข้ามาก็จะทำให้มีเงินทุนในการบริหาร จะทำให้สามารถขายหุ้นให้กับพันธมิตรได้ เมื่อขายได้เงินที่รัฐลางไปก็จะได้กลับคืนมา

“การหาพันธมิตรต่างชาติมาร่วมทุนที่ผ่านมาประสบปัญหา เนื่องจากมีการดีกันอย่างเป็นทางการ แต่ธนาคารมีปัญหามาก ต่างชาติไม่ยอมรับ หากจะทำให้สำเร็จ ต้องใช้ “ดีลพิเศษ” (Special Deal) ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องเงินลงทุนเพียงอย่างเดียวเสมอไป แต่หมายถึงเงื่อนไขพิเศษอื่นๆ เช่น การเพิ่มเงื่อนไขให้เขาซื้อข้าวเรา ซื้อยางพาราเรา เป็นต้น ที่ผ่านมา บาห์เรนสนใจเข้ามาร่วมทุน แต่รองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ต้องการทุนจากดูไบ ซึ่งไม่เข้าใจธรรมชาติของการลงทุน ดูไบ เป็นการลงทุนทางด้านอุตสาหกรรม แต่บาห์เรนเป็นประเทศที่เป็นศูนย์กลางทางการเงิน ตอนที่นายกฯ เดินทางไปเยือนได้เสนอให้เจรจากับผู้นำบาห์เรน ไม่รู้ว่า ได้เจรจาหรือเปล่า” อดีตประธานไอแบงก์ ระบุ

นอกจากปัญหาในการบริหารงานแล้ว ศ.พลโท.ดร.สมชาย วิรุฬหผล ยังเห็นว่า ธนาคารอิสลามฯ ยังมีปัญหาภายใน ที่มีความจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนอย่างเร่งด่วนหากยังคงต้องการให้ธนาคารแห่งนี้ดำเนินการต่อไปได้ โดยปัญหาเหล่านี้เกี่ยวข้องกับทัศนคติของพนักงานและวัฒนธรรมองค์กรของไอแบงก์เอง

“การรับพนักงานที่ไม่ใช่มุสลิมเข้ามาบริหารและทำงานนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างปัญหาให้ไอแบงก์ ในสมัยผมเป็นประธานธนาคารฯ นั้น สัดส่วนพนักงานที่ไม่ใช่มุสลิมมี 40 เปอร์เซนต์ ขณะที่ปัจจุบันมีสัดส่วนสูงถึง 70 เปอร์เซนต์”

“การเข้ามาของพนักงานที่ไม่ใช่มุสลิมซึ่งหลายคนไม่เข้าใจวัฒนธรรมและปรัชญาธนาคารอิสลามฯ บางคนก็เคยชินกับระบบดอกเบี้ย บางคนเอาหมูมารับประทานในสำนักงาน บางคนเมื่อเลิกงานก็แต่งชุดพนักงานไปดื่มสุรา ตัวอย่างเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของไอแบงก์ในสายตามุสลิม” อดีตประธานไอแบงก์กล่าว

“มิหนำซ้ำบางคนที่ทำงานในไอแบงก์แต่มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อมุสลิม ขณะที่มุสลิมเองที่ทำงานในไอแบงก์ก็ไม่มี Service Mind” ศ.พลโท.ดร.สมชาย กล่าวและว่า “สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การบริการของธนาคารอิสลามฯ ออกมาแย่”

“บวกกับระบบเอกสารของธนาคารที่ไม่พัฒนา ทำให้การบริการล่าช้า เช่นทำให้การปล่อยสินเชื่อล่าช้ากว่าเมื่อเทียบกับธนาคารโดยทั่วไป จึงทำให้ลูกค้าไม่อยากมาใช้บริการกับธนาคาร”

“ทัศนคติของคนที่นี่จะต้องเปลี่ยน วัฒนธรรมขององค์กรก็ต้องปรับ หากยังต้องการให้ธนาคารอิสลามฯ ยังคงอยู่” ศ.พลโท.ดร.สมชาย วิรุฬหผล เน้นย้ำ

“ขณะเดียวกันลูกค้ามุสลิมก็ต้องปรับตัวด้วย นักธุรกิจมุสลิมบางคนไม่มีแผนธุรกิจ (Business Plan) คิดว่านุ่งโสร่งเข้าไปขอกู้จากธนาคารอิสลามแล้วก็จะได้ พอเขาไม่ให้ก็ออกมาพูดโจมตี” ศ.พลโท.ดร.สมชาย กล่าว

พล.ท.สมชาย ยังกล่าวว่า ผู้บริหารธนาคารฯ ก็ต้องปรับแนวทางการหารายได้ของธนาคารด้วย

“ธนาคารพานิชย์ทั่วไปเขามีรายได้จากการบริการ (Service) พอๆ กับการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้นทุนน้อยแต่กำไรมาก ดังนั้น ผู้บริหารก็จะต้องปรับเปลี่ยน อย่าคิดหาและพึ่งรายได้จากการปล่อยสินเชื่อเพียงอย่างเดียว เพราะไม่อาจทำให้ธนาคารอยู่รอดได้”

ข้อสรุปจากการให้สัมภาษณ์จากพล.ท.ดร.สมชาย ยืนยันว่า ธนาคารอิสลามฯ ไม่ปิดตัวแน่นอน แต่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารโดยการสร้่างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ให้พนักงานมีความกระตือรื้อร้น ในการให้บริการเพื่อสร้่างภาพลักษณ์ที่ดีให้องค์กร และได้ในตอนสุดท้าย ได้มีการตรวจสอบโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และการตรวจสอบภายในมีการส่งเรื่องให้ ปปช.ดำเนินการต่อแล้ว

Mtoday ได้ตรวจสอบไทม์ไลน์การบริหารธนาคารอิสลามฯ ไล่เรียงจากการยุคของพล.ท.สมชาย พบว่า ในช่วงนั้น มีรัฐบาลพรรคที่ถูกเรียกว่า พรรคเทพ เข้ามาบริหารต่อด้วยรัฐบาลผู้หญิง แต่ปัญหาได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่การบริหารของพรรคเทพ ธนาคารอิสลามฯมีหนี้เสียมากกว่า 40,000 ล้านบาทในยุคนั้น

เมื่อตรวจสอบลึกลงไปว่า ทำไมธนาคารที่มียอดเงินฝากและยอดเงินกู้ไม่มากนัก ทำไมถึงมีหนี้เสียจากเงินกู้ได้มากถึง 40,000 ล้าน ก็พบว่า มียุคนั้น ผู้บริหารธนาคารสนิทกับฝ่ายการเมืองระดับสูง สามารถดึงเงินมาเพิ่มทุน 10,000 ล้านบาท การมีเงินเพิ่มทุนเข้ามา 10,000 ล้านบาท จึงมีการขยายสาขาอย่างบ้าเลือด ซึ่งไม่รู้ว่า มีประโยชน์อะไรจากการขยายสาขาหรือไม่

อีกด้านหนึ่ง เมื่อขอจากฝ่ายการเมืองได้ ฝ่ายการเมืองก็ขอจากธนาคารได้ สิ่งที่ฝ่ายเมืองขอ ก็คือ การให้ธนาคารปล่อยกู้ให้กับพรรคพวกตัวเองอย่างบ้าเลือดเช่นเดียวกัน โดยที่หลักทรัพย์ค้ำประกันมีไม่ถึงวงเงินกู้ เหมิอนกับที่นักการเมืองกลุ่ม 16 ทำไว้กับธนาคารBBC นมีการอภิปรายถล่มกันดุเดือดในสภาฯ ส่งผลให้ BBC ต้องล่มสลาย

แตกต่างกันตรงที่กับแบงก์อิสลามฯ ฝ่ายที่เคยอภิปรายกับฝ่ายที่ถูกอภิปรายมาจับมือกัน ทำลาย

ไอแบงก์ในยุคมีปัญหา ส่วนใหญ่เกิดในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มที่เข้ามาบริหารเป็นกลุ่มที่เคยทำให้ BBC ล่มสลายมาแล้ว จับมือกับแกนนำรัฐบาลในยุคนนั้น ซึ่งหากไล่เรียงสินเชื่อที่มีปัญหาจะพบว่า เป็นทุนใกล้ชิดนักการเมือง อาทิ

-หัวหน้ากลุ่มการเมือง มีหนี้เสียจากการไปลงทุนกิจการโรงแรมในภูเก็ตมากกว่า 1,000 ล้านบาท

-กลุ่มบริษัทกระดาษขนาดใหญ่ สร้างหนี้เสียไว้มากกว่า 2,000 ล้านบาท

-ยังมีกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ใกล้ชิดนักการเมืองอีกหลายแห่ง ช่วยกันปู้ยี่ปูยำธนาคารอิสลาม กลายเป็นหนี้เสียมากกว่า 40,000 ล้านบาท

ธนาคารอิสลามฯ ที่มีปัญหาจึงไม่ใช่มาจากโครงสร้างหรือระบบของธนาคารมีปัญหา แต่มาจากผู้บริหารธนาคารบางยุคร่วมมือกับนักการเมือง ปล่อยกู้จนเกิดหนี้มากมาย และไม่อาจแก้ได้เพราะทรัพย์สินมีมูลค่าน้อยกว่าสินเชื่อ ในขณะที่หนี้เสียจากการกู้ยืมของทุนมุสลิมมีเพียง 3,000 ล้านบาทเท่านั้น ซ่งส่วนหนึ่งมาจากความเข้าใจผิดว่า การกู้เงินเป็นการให้เปล่าของรัฐเพื่อชดเชยความเสียหายจากน้ำท่วม

แม้การตรวจสอบและลงโทษผู้กระทำผิดจะดำเนินอยู่ แต่มีความล่าช้า ที่สำคัญไม่สามารถสาวถึงนักการเมืองตัวใหญ่ได้ คนกลุ่มนี้ยังคงโลดแล่นอยู่ต่อไป ทำได้เพียงแต่บอกสังคมให้รับรู้ว่า ใครคือผู้ทำลายธนาคารอิสลาม ทำให้ชื่อของคำว่า “อิสลาม” เสียหาย

Mtoday
หมายเหตุ : จากนิตยสารMtoday ฉบับเดือนเมษายน 2560