ขอนแก่นแอพTHailand I love Uสุดเวิร์ค ดีป้าช่วยนำของดีสู่โลกกว้าง

80

ดีป้ารุกขอนแก่น ส่งดิจิทัลแมนเป็นพี่เลี้ยงเพิ่มความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการนำของดีเมืองขอนแก่นสู่โลกกว้าง แนะใช้แอปพลิเคชัน THailand I love Uกระตุ้นยอดขายให้แก่ผู้ประกอบการทุกประเภท

นายณัฐวุฒิ ธีรปรเมศวร์ ที่ปรึกษาวิทยากรอาสาโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จังหวัดขอนแก่นเป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่องของโครงการ ซึ่งเมื่อต้นปี 2560  ได้อบรมวิทยากรอาสาทั้งหมด 40

คน เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในจังหวัดขอนแก่น 400  ราย ซึ่งขณะนี้วิทยากรอาสาได้ลงพื้นที่ไปแล้วกว่าร้อยละ 80-90  โดยวิทยากรอาสา 1  คน จะอบรมผู้ประกอบการ 10  ราย เปรียบเสมือนเป็นพี่เลี้ยงและเป็นทุกอย่างของผู้ประกอบการ เมื่อผู้ประกอบการมีปัญหาหรือข้อสงสัย วิทยากรอาสาก็จะแก้ปัญหาให้ผู้ประกอบการได้

 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในจังหวัดขอนแก่น ส่วนมากจะจำหน่ายสินค้าประเภทแปรรูป อาทิ น้ำจิ้มแจ่วฮ้อนที่บรรจุใส่ขวดแก้ว ผ้าไหมทอมือ พลาสติกสานตะกร้า หมูยอ และแหนม

ทำให้มีศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีได้ดีพอสมควร โดยเฉพาะผ้าไหมทอมือ ที่มีการใช้เฟสบุ๊คไลฟ์แต่งกายด้วยผ้าทอมือให้ผู้บริโภคได้เห็นการแต่งกายจริงๆ แล้วจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแบบสดๆทางระบบออนไลน์

ซึ่งถือว่า เป็นการจำหน่ายสินค้าในระบบออนไลน์อย่างเข้มแข็งอยู่แล้ว แต่โครงการของดีป้าจะช่วยส่งเสริมเรื่องศักยภาพในการขายให้มากขึ้น และส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านเป็นของขึ้นชื่อในจังหวัดมากขึ้นด้วย

“ยอมรับว่า ผู้ประกอบการที่เป็นเกษตรกรบางส่วนไม่เคยเข้าถึงเทคโนโลยี เพราะส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตในสวนในไร่มาตลอด แต่เมื่อวิทยากรอาสาลงพื้นที่ก็มีผลตอบรับเป็นอย่างดี  เนื่องจากโครงการนี้เป็นการลงพื้นที่จริงๆ เป็นการดำเนินการที่ติดตามผลอย่างเป็นรูปธรรม ต่างจากโครงการอื่นๆที่มอบงบประมาณ แต่ไม่เคยลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ” เขา กล่าว

นายณัฐวุฒิ  กล่าวอีกว่า ข้อดีของโครงการนี้ คือการเข้าถึงผู้ประกอบการอย่างแท้จริง มีความร่วมมือจากหลายหน่วยงานในจังหวัด ที่สำคัญ มีการจัดวิทยากรอาสาซึ่งเป็นคนในชุมชนที่ผู้ประกอบการคุ้นเคยดีอยู่แล้ว

 

นอกจากนี้ วิทยากรอาสาบางคนในจังหวัดขอนแก่น ยังเป็นอาจารย์จากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย  หรือ กศน. ที่ทำงานประสานกับคนในพื้นที่อยู่แล้ว ทำให้พูดคุยกับผู้ประกอบการได้ง่าย อีกทั้งยังเป็นผู้ที่มีความน่าเชื่อถือในชุมชน ส่งผลถึงความน่าเชื่อถือของโครงการดังกล่าวอีกด้วย

นายณัฐวุฒิ เชื่อว่า ผู้ประกอบการทั้ง 400 คนนั้น หากประสบความสำเร็จเพียงแค่ 40  คนก็ถือว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จแล้วเพราะเชื่อว่าทั้งม40 คนนี้ สามารถต่อยอดให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการรายอื่นได้อีก

ดังนั้น โครงการนี้ควรจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญ ควรรณรงค์ให้ผู้ประกอบการทั่วประเทศรู้จักแอปพลิเคชัน Thailand I love Uที่พัฒนาขึ้น เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการใช้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เพราะจะช่วยเพิ่มยอดขายให้แก่ผู้ประกอบการในจังหวัดต่างๆได้เป็นอย่างดี เนื่องจากทุกวันนี้ ในแต่ละจังหวัดก็มีเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ที่เอกชนสร้างขึ้นมาจำนวนมาก ดังนั้น หากมีการออกนโยบายรณรงค์แอปพลิเคชัน  อย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้เข้าถึงผู้ประกอบการในกลุ่มเกษตรกรได้ ซึ่งกลุ่มดังกล่าวจะมีลูกหลานที่ช่วยเหลือด้านการจำหน่ายสินค้าออนไลน์อยู่แล้ว เพียงแต่ขอให้ออกเป็นนโยบายและประกาศออกมาอย่างชัดเจน ให้ผู้ประกอบการได้ต่อยอดการจำหน่ายสินค้าได้