นายกฯสั่ง 9 หน่วยงานซื้อยาง ระดมงบกว่าหมื่นล้าน

128

สั่ง 9กระทรวง ระดมงบฯ 1.69 หมื่นล้าน ช่วยซื้อยาง…กองทัพด้วย

“นายกฯ” สั่ง เร่งรัด 9 หน่วยงานเบิกจ่ายงบฯ1.69 หมื่นล้านบาท รับซื้อยางพารา ไปใช้ในภารกิจ สนับสนุนการใช้ยางภายในประเทศ เป็นน้ำยางข้น 22,321.54 ตัน และยางแห้ง 2,952.66 ตัน พร้อมจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายางให้แล้วเสร็จ ช่วยพยุงราคายางกลับสู่ดุลยภาพโดยเร็ว/ทั้ง กลาโหม คมนาคม ศึกษาธิการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกษตรฯ สาธารณสุข มหาดไทย ท่องเที่ยวและกีฬา และกรุงเทพมหานคร

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า จากวันนี้ถึงสิ้นเดือนกันยายน 2560 มีหน่วยงานของรัฐ 9 หน่วย ยื่นความจำนงที่จะใช้ยางพาราในภารกิจของตนเองอย่างแน่นอน คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลาโหม คมนาคม ศึกษาธิการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข มหาดไทย ท่องเที่ยวและกีฬา และกรุงเทพมหานคร

แบ่งเป็นปริมาณน้ำยางข้น 22,321.54 ตัน และยางแห้ง 2,952.66 ตัน คิดเป็นงบประมาณทั้งสิ้น 16,925,626,588.57 บาท

พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า นายกฯ เร่งรัดให้ทั้ง 9 หน่วยงาน ดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อกระตุ้นการรับซื้อยางใช้ภายในประเทศจากพี่น้องเกษตรกร. ให้ได้ก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2560

โดยเฉพาะหน่วยงานที่ได้ตั้งงบปกติไว้แล้วและหน่วยงานที่จะใช้งบเหลือจ่าย ส่วนบางหน่วยงานที่จะขอเบิกจากงบกลางให้ประสานไปยังสำนักงบประมาณ เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2561

ทั้งนี้ รายการผลิตภัณฑ์ยางที่แต่ละหน่วยงานจะนำไปใช้มีทั้งสิ้น 23 รายการ เช่น ถุงฝายยาง แผ่นรองคอสะพาน ท่อดูดน้ำและส่งน้ำ แผ่นยางกันซึม ยางคั่นรอยต่อพื้นคอนกรีต แผ่นยางปูคอกปศุสัตว์ ยางปูสนามฟุตซอล รองเท้าบู๊ทยาง ถุงมือยาง เป็นต้น

โดยขณะนี้กรมชลประทานได้นำร่องรับมอบยางจากการยางแห่งประเทศไทยแล้ว จำนวน 100 ตัน เพื่อใช้เป็นวัสดุซ่อมแซมถนนลาดยางที่อยู่ในความดูแลราว 3,000 กม.

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ติดตามความคืบหน้าของการจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายาง ที่การยางแห่งประเทศไทยจะร่วมกับผู้ประกอบการส่งออกยางรายใหญ่ของประเทศ 5 บริษัทลงทุนร่วมกัน องค์กรละ 200 ล้านบาท เข้าซื้อยางในตลาด โดยกำชับให้เร่งดำเนินการโดยเร็ว เพราะถือเป็นนวัตกรรมการบริหารจัดการที่จะช่วยให้ราคายางกลับสู่ดุลยภาพได้เร็วขึ้น และส่งผลดีต่อราคายางในอนาคต

“นายกฯ เข้าใจปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง โดยยืนยันว่ายังไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 เพื่อลดอุปสรรคด้านกฎหมายในการบังคับให้ใช้ยางภายในประเทศ เพราะทุกอย่างกำลังได้รับการแก้ไขและมีความคืบหน้าเป็นลำดับแล้ว” พลโท สรรเสริญ ระบุ