รัฐมนตรีมาเลเซียเยี่ยมชมศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงการณ์ ชี้ฮาลาลไทยขาดกฎหมายละโทษผู้ละเมิด

272

วันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม 2560 เวลา 16.00 น. ดาโต๊ะ สะรี ฮัมซะฮฺ ไซนุดดิน (Dato’ Seri Hamzah Zainuddin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า สหกรณ์และผู้บริโภค ประเทศมาเลเซีย นำคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงจำนวน 10 คนพร้อมผู้แทนทางการค้าของมาเลเซีย 12 คนเข้าเยี่ยมศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีทีมบริหารของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล พร้อม รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทยร่วมให้การต้อนรับ ทีมของท่านรัฐมนตรีเมื่อลงจากเครื่องบินเดินทางตรงมาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในทันที ท่านรัฐมนตรีอยากทราบความก้าวหน้าของฮาลาลประเทศไทย และประสงค์จะสร้างความร่วมมือระหว่างมาเลเซียและประเทศไทยด้านการพัฒนางานรับรองฮาลาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการใช้วิทยาศาสตร์ฮาลาลซึ่งทางมาเลเซียยอมรับว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางด้านนี้ในระดับสูง

ดร.วินัย กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้จากรัฐมนตรีทำให้ทราบว่ามาเลเซียมีกฎหมายด้านการรับรองฮาลาลซึ่งทางกระทรวงการค้า สหกรณ์และผู้บริโภคเป็นผู้ดูแลตั้งแต่เรื่องนโยบายไปจนถึงงบประมาณ รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมาย สิ่งที่คนภายนอกเข้าใจว่า JAKIM ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านศาสนาอิสลามเป็นผู้ดูแลการรับรองฮาลาลของมาเลเซีย ท่านรัฐมนตรีบอกว่าเข้าใจถูกต้องแล้ว แต่อาจไม่ทราบว่า JAKIM ดำเนินงานจากการมอบหมายของกระทรวงของท่านรัฐมนตรี โดยสรุปคือดาโต๊ะ สะรี ไซนุดดินคือผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในเรื่องการรับรองฮาลาลของมาเลเซีย

“จุดสำคัญที่ทางมาเลเซียนำเสนอคือการมีกฎหมายโดยทางกระทรวงการค้าฯเป็นผู้ดูแลการบังคับใช้ อันเป็นคำตอบว่าเหตุใดตราฮาลาลของมาเลเซียจึงได้รับการยอมรับสูง คล้ายจะบอกว่าจุดอ่อนของตราฮาลาลประเทศไทยคือขาดกฎหมายเอาผิดผู้ละเมิด”

ดร.วินัย ระบุว่า รัฐมนตรีและคณะฟังการบรรยายพร้อมเข้าเยี่ยมชมการปฏิบัติการของนักวิทยาศาสตร์ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลด้วยความชื่นชม ได้เห็นระบบห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล เห็นการดำเนินงานวางระบบการมาตรฐานฮาลาล ได้ชมการสาธิตระบบไอทีและแอ็พพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้นโดยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล เมื่อทราบว่าศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลตรวจสอบผลิตภัณฑ์ไปกว่า 30,000 ผลิตภัณฑ์เป็นการวิเคราะห์มากกว่า 120,000 การวิเคราะห์ ทั้งวางระบบการมาตรฐานฮาลาลไปมากกว่า 700 โรงงาน ได้ทราบว่าประเทศไทยมีความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลในระดับสูง ทั้งพัฒนาระบบ H-Number ไปจนเสร็จสิ้นแล้ว นอกจากนี้ยังได้รับทราบว่าทาง OIC และ SMIIC รับประเทศไทยเป็นสมาชิกแล้วตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เมื่อได้เห็นความแข็งแกร่งของฮาลาลประเทศไทยจึงมั่นใจว่าความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซียจะมีมากขึ้นในอนาคต

“ท่านรัฐมนตรีเห็นด้วยกับผมที่ว่าประเทศไทยกับมาเลเซียไม่ใช่คู่แข่งกันในตลาด ทั้งคู่ไม่ใช่คู่แข่งกับผลิตภัณฑ์ฮาลาลในประเทศอื่นๆ คู่แข่งแท้จริงคือผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ไม่มีการรับรองฮาลาลทั้งสำหรับมุสลิมและผู้ที่มิใช่มุสลิม ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีความได้เปรียบด้านราคาทำให้มีโอกาสพัฒนาคุณภาพได้มากกว่า หากประเทศไทยและมาเลเซียสามารถทำให้ผลิตภัณฑ์ฮาลาลแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีการรับรองฮาลาลได้ทั้งด้านคุณภาพและราคา ผู้ที่ได้ประโยชน์ไปเต็มๆคือผู้บริโภครวมทั้งนักธุรกิจและอุตสาหกรรมฮาลาล ความร่วมมือระหว่างสองประเทศเพื่อพัฒนางานด้านนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ท่านรัฐมนตรีพูดยืนยัน”ดร.วินัย กล่าว