โต๊ะครู””อะห์ลิซซุนนะห์วัลยะมาอะห์” ออกโรงเตือนสติมุสลิม อย่ากล่าวหามุสลิมด้วยกันว่าทำชีริก (ตั้งภาคี) ย้ำ โทษของการกล่าวหาผู้อื่น “ร้ายแรงกว่า” ผู้กระทำเองเสียอีก

1916

 

โต๊ะครู””อะห์ลิซซุนนะห์วัลยะมาอะห์” ออกโรงเตือนสติมุสลิม อย่ากล่าวหามุสลิมด้วยกันว่าทำชีริก (ตั้งภาคี) ย้ำ โทษของการกล่าวหาผู้อื่น “ร้ายแรงกว่า” ผู้กระทำเองเสียอีก

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2559 “อ.อารีฟีน แสงวิมาน” นักการศาสนาอะห์ลิซซุนนะห์วัลยะมาอะห์ ผู้มีชื่อเสียง ได้สอนและชี้แจงหลักการศาสนาอิสลาม ผ่านทาง Facbook live สืบเนื่องจากเหตุการณ์เรือล่มที่อยุธยา และมีมุสลิมบางกลุ่มโดยเฉพาะสายวะฮาบีได้ออกมาโจมตีว่า การแห่เรือและพิธีกรรมดังกล่าวนั้นเป็นการกระทำที่เป็นชีริก (การตั้งภาคี) และตัดสินว่ามุสลิมที่เสียชีวิตนั้นหลุดออกจากศาสนาอิสลาม

อ.อารีฟีน แสงวิมาน กล่าวว่า “เหตุเรือล่มที่อยุธยา พวกเขากำลังได้รับการทดสอบจากอัลเลาะห์ (ซ.บ.) ดังนั้นจึงไม่บังควรที่เราจะไปซ้ำเติมหรือพูดจาในแง่ลบต่อพวกเขาเหล่านั้น เนื่องจากว่าพี่น้องของเราที่อยุธยานั้นพวกเขาคือมุสลิม เป็นพี่น้องร่วมศาสนาของเรา จำเป็นที่เราจะต้องขอดุอาให้พวกเขา และช่วยเหลือพวกเขา”

“แต่ว่ากระแสในทางโลกโซเชียลและสังคมทั่วไป โดยเฉพาะมุสลิมหลายฝ่ายที่ออกความเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจนกระทั่งเกินเลย ฮุก่ม (ตัดสิน) ว่าเป็นกาฟิร (ผู้ปฏิเสธ) ฮุก่มเป็นพวกมุชรีกีน (ตั้งภาคี) และทำชีริกใหญ่จนกระทั่งต้องหลุดออกจากศาสนาอิสลาม ซึ่งสิ่งต่างๆ (การวิพากษ์วิจารณ์และตัดสิน) เหล่านี้ ไม่ใช่แนวทางของอิสลาม” อ.อารีฟีน กล่าว

“คนที่มีความผูกพันธ์อยู่กับอัลเลาะห์เขาจะตักเตือนคนที่กระทำความผิดและขอดุอาให้แก่เขา ส่วนบุคคลที่มีความทุกข์นั้นเมื่อเขาเห็นคนที่มีความผิดเขาก็ตำหนิแบบซ้ำเติม” อ.อารีฟีน กล่าวและว่า “การไปสมน้ำหน้า หรือไปซ้ำเติม ด่าทอมุสลิมที่กระทำผิด สมมุติว่ากระทำผิดน่ะ ก็ถือว่าไม่ถูกต้อง แล้วถ้ามุสลิมเหล่านั้นไม่ได้กระทำผิดตามที่กล่าวหา ก็ถือว่าจะต้องถูกสอบสวนกันขนานใหญ่”

“การไปตำหนิซ้ำเติมพี่น้องที่เสียชีวิตจากเหตุเรือล่มที่อยุธยา โดยถ้าเขาไม่มีความผิด ถือเป็นเรื่องแล้วใหญ่” อ.อารีฟีน เน้นย้ำ

อ.อารีฟีน กล่าวว่า “เรื่องของชีริกมีอยู่สองอย่างที่อิสลามเตือนให้ระวัง หนึ่งคือการกระทำชีริก สองคือการกล่าวหาว่าคนอื่นทำชีริก สองอย่างนี้อันตรายหมดเลยตามที่ศาสดาได้สอนไว้”

“เราไปตัดสินคนอื่นว่าทำชีริก บางทีเราก็ไม่รอดเหมือนกัน ถ้าเกิดเขามิได้ชีริกอย่างแท้จริง และก็ทำให้เกิดฟิตนะห์ขึ้นมาด้วย กลายเป็นว่าเราเป็นคนก่อฟิตนะห์ขึ้นมาอย่างร้ายแรง”

อ.อารีฟีน อธิบายโดยนำคำสอนจากท่านศาสดามุฮัมหมัด (ซ.ล.) ที่ได้กล่าวว่า “แท้จริงฉันหวั่นกลัวว่าจะมีชายคนหนึ่งในหมู่พวกท่านเกิดขึ้นมา ชายคนนั้นเขาได้อ่านอัลกุรอ่านจนกระทั่งเห็นความเจิดจรัสเกิดขึ้นกับเขา และเขาบอกว่าเขาเป็นผู้ปกป้องอิสลาม แต่แล้วเขาก็ทำการเปลี่ยนหลักการอิสลาม แล้วเขาก็ออกจากหลักการอิสลาม แล้วเขาก็ละทิ้งอิสลามไว้เบื้องหลังของเขา แล้วเขาก็เพียรพยายามที่จะเชือดเฉือนเพื่อนบ้าน (พี่น้องมุสลิม) ของเขา แล้วเขาก็กล่าวหาเพื่อนบ้าน(พี่น้องมุสลิม) ของเขาว่ากระทำชีริก (ตั้งภาคี) ท่านฮุซัยฟะห์ (ร.ฎ.) ได้กล่าวถามท่านศาสดาว่า “โอ้ศาสนทุตแห่งอัลเลาะห์ คนไหนจากทั้งสองที่สมควรจะชีริกมากที่สุด คนที่ถูกกล่าวหาหรือคนที่กล่าวหา” ท่าศาสดามุฮัมหมัดได้กล่าวตอบว่า “คนที่กล่าวหานั่นแหละ”

“ดังนั้นจากหะดิษบทนี้ได้สอนเราว่า อย่าไปมักง่ายในการฮุก่ม (พิพากษา) พี่น้องมุสลิมว่ากระทำชีริก เพราะสิ่งที่เขากล่าวมาก็จะย้อนกลับไปหาเขา นอกจากนั้นการฮุก่มว่าคนอื่นเป็นกาเฟร (ผู้ปฏิเสธ) ก็มีฮะดีษที่กล่าวห้ามไว้เช่นกัน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องสนุกเลย” อ.อารีฟีน กล่าว

สำหรับในประเด็นพิธีกรรมนั้น อ.อารีฟีน แสงวิมาน กล่าวว่า “ส่วนตัวผมไม่เคยไปร่วม ไม่เคยไปพบปะกับผู้หลักผู้ใหญ่ที่จัดพิธีดังกล่าว ไม่เคยไปถามว่าเขาทำเพราะอะไร มีเจตนาอย่างไร ดังนั้นจะให้ผมฮุก่มว่าชีริก ว่าเป็นกาเฟรเลยได้ไหม ไม่ได้ครับ ผมจะไปฮุก่มแบบนั้นไม่ได้ เพราะผมไม่เคยไปถามเจตนาของพวกเขาเลย”

“เวลาที่พวกเราเห็นเขาไปที่กุโบร์ (สุสาน) เราก็บอกว่าพวกเขากำลังสักการะกุโบร์ อิบาดะห์ (เคารพภักดี) กุโบร์ ทั้งที่เราไม่เคยถามพวกเขาเลย แล้วจะเราคิดแทนพวกเขาใช่ไหม เราอย่าไปพูดว่าใครไปทำการอิบาดะห์กุโบร์ เพราะการไปพูดแบบนี้มันเป็นการกล่าวหาพี่น้องมุสลิมว่าทำชีริก แล้วถ้าเขาไม่ได้อิบาดะห์กุโบร์จริง ชีริกก็จะกลับไปยังคนกล่าวหาทันที”

นอกจากนั้นในการสอนครั้งนี้ของ อ.อารีฟีน แสงวิมาน ยังมีเนื้อหาประเด็นที่น่าสนใจ ทั้งเรื่องการตะวัซซุล (การขอความช่วยเหลือผ่านบุคคลอื่น) ประเภาของชีริก และเรื่องอื่นๆ ที่น่าผู้สนใจสามารถรับฟังในคลิปวิดีโอ ที่มีความยาวเกือบ 3 ชั่วโมงนี้ซึ่งจะทำให้เข้าใจแนวทางศาสนาอิสลามได้ลึกซึ้งอย่างแท้จริง

กล่าวสำหรับ อ.อารีฟีน แสงวิมาน เป็นนักวิชาการศาสนาสายอะห์ลิซซุนนะห์วัลยะมาอะห์ ระบุว่าตน ยึดถือด้านฟิกห์ (นอติศาสตร์อิสลาม) ตามมัซฮับชาฟีอี ส่วนหลักอากีดะห์ (ศรัทธา) คือหลักอากีดะห์อะลิซุนนะห์วัลยะมาอะห์ แนวทางอะชาอีเราะห์ ส่วนแนวทางตะเซาวุฟ (รหัสยนิยม) คือแนวทางของอีหม่ามอับดุลกอดิรอัลยีลานีซึ่งเรียกว่าสายกอดรีนั่นเอง