#รองเท้าบนหัวของคุณครูผู้หวังดี หมออ่านข่าวเด็กนักเรียนที่วางรองเท้าไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย เลยมีคุณครูเอารองเท้ามาวางไว้บนศีรษะ แล้วสั่งให้ก้มกราบ ด้วยความรู้สึกหดหู่ใจ เราเติบโตมากับวัฒนธรรมเชิงอำนาจ ผู้ใหญ่หลายคนจึงเชื่อว่าการสอนต้องควบคู่ไปกับการลงโทษ ทำให้หลาบจำ ทำให้อับอาย ทำให้รู้สึกต้อยต่ำ จะนำมาซึ่งความเจ็บแล้วจำ และทำให้เด็กทำตัวได้ดีขึ้น ทั้งๆ ที่ในทางวิทยาศาสตร์ สมองของมนุษย์ไม่ได้เรียนรู้ในลักษณะนั้น “เด็กๆ ไม่ประพฤติตัวดีขึ้น ในขณะที่พวกเขารู้สึกย่ำแย่ เด็กๆ ประพฤติตัวดีขึ้น เมื่อพวกเขารู้สึกดีขึ้น” เพราะสมองเมื่อต้องอยู่ในภาวะคับขัน รู้สึกไม่ปลอดภัย มันจะไม่ใช้สมองส่วนเหตุผลทำงาน แต่มันจะใช้สมองส่วน “สัญชาตญาณและอารมณ์” ซึ่งทำให้คนเราตอบสนองแค่ 3 รูปแบบ “สู้” “หนี” หรือ “ยอม” เด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงซ้ำๆ ซึ่งอาจจะไม่ได้หมายถึงความรุนแรงทางกาย แต่เป็นความรุนแรงทางอารมณ์และจิตใจ ก็จะสั่งสมผลร้ายของสมองส่วนอารมณ์ สู้ –> พัฒนาความก้าวร้าว รุนแรง ติดนิสัยโตไปก็ใช้กำลังข่มใครๆ เหมือนที่เคยได้เจอ หลายคนกลายเป็นเด็กดื้อ ต่อต้าน การต่อต้านที่เป็น”การเอาคืน” พ่อแม่ที่สะใจ (แบบที่เด็กก็ทำไปแบบไม่รู้ตัว) หนี –> หนีปัญหา ปกปิดความผิด ไม่รับความจริง พัฒนาผู้ใหญ่โรควิตกกังวล ซึมเศร้า ยอม –> ซึ่งเราเห็นกันมากมาย และผู้ใหญ่ก็เข้าใจว่าวิธีที่ทำร้ายนั้นก็ได้ผล แต่การเลือก “ยอม” พัฒนาเด็กท้อแท้ง่าย ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง เพราะชีวิตที่เติบโตมา ไม่พบว่าตัวเองมีคุณค่าและมีอำนาจ การกระทำที่ทำให้เกิดความ “หลาบจำและความอับอาย” หลายครั้งส่งผลร้ายเป็น “แผลในใจ” ของเด็กหลายคน รักลูก (ศิษย์) … สอนพวกเขาด้วยเหตุผลและกติกา โดยไม่ต้องลดทอนคุณค่าของ “ความเป็นมนุษย์” กันนะคะ พวกเขาจะได้เติบโตไป… เป็นผู้ใหญ่ที่ “เห็นหัว (ใจ) คน” #หมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน ผู้เชื่อว่าการสอนด้วยวิธีที่ดีให้ผลที่ดีกว่า ป.ล. เราเรียนรู้กันด้วยเหตุการณ์ ไม่ต้องพาดพิงตัวบุคคลนะคะ ไม่เป็นประโยชน์อะไรและอาจกลายเป็นเราซะเองที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนอื่น
cr:เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน