ร้อยเรื่อง…ร้อยใจไทยมุสลิม ตอน3 “ค่อย ๆ ก้าวทีละขั้น มุ่งมั่นผ่านสารพันปัญหา”

93


ร้อยเรื่อง…ร้อยใจไทยมุสลิม ตอน3 “ค่อย ๆ ก้าวทีละขั้น มุ่งมั่นผ่านสารพันปัญหา”

เพื่อไขข้อข้องใจให้สังคมมุสลิมชัดเจนว่า “มุสลิมบริโภคก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ได้หรือไม่?” ผศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน (ตำแหน่งนักวิชาการในขณะนั้น) ตัดสินใจจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยไขมันและน้ำมัน” เป็นห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลครั้งแรกเพื่อดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคมุสลิม  เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2538  โดยท่านเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเพียงคนเดียว กับเครื่องมือวิทยาศาสตร์  2 ชิ้น บนพื้นที่เพียง 32 ตารางเมตร ห้องดังกล่าวตั้งอยู่ที่อาคาร 14  คณะสหเวชศาสตร์ ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์   โดยมี ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ รองอธิบการบดีด้านวิจัย และนางเพชรา ภูริวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยมีส่วนสำคัญในการเกื้อหนุน

จนในที่สุดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2546 คณะรัฐมนตรีมีมติจัดงบประมาณประจำปี ตามการเสนอของ  สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  และคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล  เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาล ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งทำแผนจัดตั้งศูนย์ข้อมูล และบริการทางวิทยาศาสตร์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอาหารฮาลาล มติของคณะรัฐมนตรีครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำเนิดศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลในเวลาต่อมา และได้ถือเอาวันที่ 13 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันสำคัญคล้ายวันสถาปนาศุนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล
แม้ต้องทำงานภายใต้ข้อจำกัดรอบด้าน  แต่ผลงานของ ดร.วินัย ดะห์ลัน กลับเด่นชัดและพัฒนาอย่างไม่ยั้งหยุดตลอดระยะเวลา 10 ปี ของการทำงานตรวจสอบการปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล มีผลงานที่ประจักษ์ต่อสายตาของผู้คนในสังคมมากมาย รวมถึงขยายการตรวจสอบได้ถึงระดับภาคการผลิตด้วยการผลักดันของ นายสมพล รัตนาภิบาล ข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อม ๆ ไปกับการเผยแพร่สร้างความเข้าใจในภาคประชาชนต่อความสำคัญของงานวิทยาศาสตร์ฮาลาลในวงกว้างขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมุสลิมตระหนักถึงความสำคัญของการรับรองฮาลาลที่มีคุณภาพมากขึ้น ในปี 2541 “ศูนย์วิจัยไขมันและน้ำมัน” จึงขยับขยายพื้นที่ในการปฏิบัติงานจาก 32 ตารางเมตรเป็น 80 ตารางเมตร และย้ายจากอาคาร 14 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ไปยังอาคารวิทยกิตติ์ ชั้น 13 สยามสแควร์

พิธีเปิดศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.)ลุล่วงในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2547 ก็มีอันจะต้องย้ายสถานที่อีกเป็นคำรบที่ 3 จากอาคารวิทยกิตติ์ สยาม  สแควร์ สู่อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาพัฒน์ 16 และจาก 80 ตารางเมตรเป็น 340 และขยายเพิ่มในภายหลังเป็น 400 ตารางเมตร ยังจำได้ว่า อาคารนี้มีห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ “สมชาย นีละไพจิตร” เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของทนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งให้การสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ฯ มาโดยตลอด และในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน มีมติจากสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แยกห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลจากคณะสหเวชศาสตร์ โดยตั้งเป็น “ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.)” มีการเปิดตัวสถานะใหม่อย่างเป็นทางการ ในการประชุม The 4th Meeting of the OIC Task Force on SMEs and the Related Exhibition ณ โรงแรมแลนด์มาร์ค ถนนสุขุมวิท กรุงเทพ ฯ เมื่อ 24 มกราคม พ.ศ.2548

และแล้วต้นปี พ.ศ.2551 ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ฯ ได้รับพื้นที่อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สร้างขึ้นใหม่ จำนวน 3 ชั้น คือ ชั้นที่ 11,12, และ 13 รวมพื้นที่กว่า 2,700 ตารางเมตร โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงเปิดแพรคลุมป้ายศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ณ ชั้น 12  อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 13.52 น.  นับเป็นฐานปฏิบัติการที่มั่นคงสู่การขยายสำนักงานสาขาไปยังภาคต่าง ๆ ต่อไป