บึ้มสายบุรี 6ศพ! ทหารแถลงคนร้ายรับสารภาพ ขณะญาติร้องกรรมการสิทธิฯ “แพะ” สารภาพไม่อยากเจ็บตัว

415

วันที่ 29 กย. ที่มณฑลทหารบกที่ 46 อ.หนองจิก จ.ปัตตานี พล.ต.จตุพร กลัมพสุต ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี พล.ต.ต.ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี ผบก.ภ.จ.ปัตตานี พ.อ.คมกฤต รัตนฉายา ผู้บังคับกองกำลังทหารพรานจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายไพโรจน์ จริตงาม ปลัดจังหวัด และผู้บังคับหน่วยกำลังร่วม ได้นำตัว 1 ในทีมผู้ร่วมก่อเหตุร่วมลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 เสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บ 5 นายและมีชาวบ้านถูกลูกหลงบาดเจ็บ 1 ราย เหตุเกิดพื้นที่ ม.1 ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 22 กย.ที่ผ่านมา ขณะเจ้าหน้าที่เดินทางด้วยรถยนต์หุ้มเกราะเพื่อไปดูแลความปลอดภัยโรงเรียน

พล.ต.จตุพร กล่าวว่า หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการขยายผลจากวัตถุพยานและพยานต่าง ๆ รวมไปถึงการปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายหลายจุดจนนำไปสู่การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย โดยได้ควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกษา จำนวน 6 คน และผลการสอบสวนผู้ต้องสงสัยอย่างต่อเนื่องปรากฏว่า 1 ใน 6 รายซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยรายดังกล่าวนี้ได้ให้การรับสารภาพว่าอยู่ในกลุ่มขบวนการเมื่อปี 54 จากการชักชวนจาก นายยารานิง แตมามุ แกนนำคนสำคัญ
ผู้ต้องสงสัย ยอมรับว่า มีส่วนเกี่ยวข้อกับเหตุการณ์ลอบวางระเบิดทหารพรานชุดดังกล่าวเสียชีวิต 4 นาย โดยมี นายยาการียา บาโง เป้นผู้สั่งการให้ตนและพวกร่วมประชุมวางแผนก่อนเกิดเหตุ 1อาทิตย์เพื่อแบ่งหน้าที่การก่อเหตุ ซึ่งคนที่ร่วมประชุม ประกอบด้วย นายยาการียา บาโง ทำหน้าที่สั่งการ นายสุไลมาน ดอเลาะ ทำหน้าที่รับระเบิดและดูต้นทาง นายอายมาน กูโน ทำหน้าที่รับระเบิดและกดชนวนระเบิด นายแพนดี หะยีเตะ ทำหน้าที่ร่วมกดระเบิด นายมารวาน มีทอ ทำหน้าที่ร่วมกดระเบิด ส่วนตนมีหน้าที่ดูต้นทาง หลังจากผู้ต้องสงสัยคนดังกล่าวได้รับสารภาพก็ได้นำตัวไปทำการชี้จุดพื้นที่ในการวางแผนก่อเหตุ จำนวน 3 จุด คือ

1.จุดประชุมวางแผนที่บ้านไม่มีเลขที่ ม.4 ตกะดุนง อ.สายบุรี 2.จุดดูต้นทางความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าว และ 3.จุดที่ นายสุไลมาน ใช้เป็นจุดดูต้นทางและชี้เป้าหมายเพื่อก่อเหตุ

สำหรับแผนการที่ร่วมก่อเหตุนั้น ผู้ต้องสงสัยคนดังกล่าว สารภาพว่า หลังจากได้มีการประชุมวางแผนเพื่อเตรียมก่อเหตุเรียบร้อยแล้ว จากนั้นทั้ง 6 คนก็ได้มีการแบ่งหน้าที่ โดยก่อนวันเกิดเหตุ 1 วันคือ วันที่ 21 กย.ที่ผ่านมา นายมาราวานและนายแพนดีจะเป็นผู้ที่นำระเบิดมาซุกไว้บริเวณที่เกิดเหตุ จากนั้นเวลา 22.00 น. คืนเดียวกัน. นายยาการียาและนายอายมานจะเป็นผู้ที่นำระเบิดที่ซุกไว้มาฝังไว้ในที่เกิดเหตุ จากนั้นทั้ง 6 คนก็จะทำการแยกย้ายกันทำหน้าที่ตามที่ประชุมกันไว้ โดยคนที่ทำหน้าที่อยู่ในช่วงเวลาที่ระเบิดนั้น คือ นายอายมาน นายแพนดี และนายมารวาน เมื่อรถเจ้าหน้าที่มาถึง คนที่กดระเบิดคือ นายอายมาน และหลังจากก่อเหตุทุกคนก็แยกย้ายกันหลบหนี ส่วนตนคิดว่าเจ้าหน้าที่จะสาวไปไม่ถึงจึงอาศัยอยู่ที่บ้าน แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่คุมตัวได้ในที่สุด

” จากการขยายผลผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวส่วนใหญ่ให้การว่า การก่อเหตุรุนแรงที่ผ่านมาเป็นในลักษณะของกลุ่มอาชญากรรมแฝงสถานการณ์ความไม่สงบด้วยการใช้รูปแบบการก่อเหตุที่รุนแรงและไม่มีอุดมการณ์ มีการเรียกค่าคุ้มครองแสวงหาผลประโยชน์ของกลุ่มคนอิทธิพลในพื้นที่มีทั้งในลักษณะเก็บรายวันและรายเดือน หาไม่จ่ายก็จะถูกข่มขู่ทำร้าย จึงฝากประชาชนหากเจอลักษณะเช่นนี้ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันที”

อีกด้านหนึ่ง ครอบครัวและญาติของผู้ต้องสงสัย ได้เดินทางไปร้องเรียนขอความเป็นธรรม ที่ศูนย์ประสานงานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่สำนักงานมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อขอความช่วยเหลือ และขอให้เจ้าหน้าที่แจ้งความผิดที่ถูกควบคุมตัว โดยอ้างว่าสามีถูกบังคับให้รับสารภาพก่อเหตุวางระเบิดรถทหารบริเวณดังกล่าว ทั้งๆ ที่สามีบริสุทธิ์ ไม่ได้กระทำเช่นอย่างที่ถูกกล่าวหา

นางเจะมูดอ สอและ แม่ของนายกอฮา วาจิ กล่าวว่า ลูกชาย (นายกอฮา วาจิ) ถูกเจ้าหน้าที่เอาตัวไปเมื่อเช้าวันจันทร์ จนถึงตอนนี้ยังไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนบอกเลยว่า จับไปควบคุมที่ค่ายบ่อทองเพราะเรื่องอะไร วันนี้ที่ไปเยี่ยมก็ถามเจ้าหน้าที่ เขาก็บอกไม่รู้ ถามจะกลับวันไหน ก็ไม่รู้ แต่เขาก็ให้เยี่ยมไม่ถึง 2 นาที ก็เลยมาที่ ม.อ.ปัตตานี เพื่อร้องขอให้เจ้าหน้าที่ใน ม.อ.ช่วยคุยกับเจ้าหน้าที่ทหาร ให้สามารถเยี่ยมได้นานกว่านี้ และอยากรู้ว่าเขามีความผิดอะไร

ด้าน น.ส.มารียานี มะแกะ ภรรยาของ นายสุกรี อาแวกาจิ กล่าวว่า ที่มาร้องเรียนขอความช่วยเหลือ เพราะเห็นความผิดปดติของสามี เขามีไข้ เดินไม่ปกติ และเขาบอกด้วยว่าต้องสารภาพว่าทำ เพราะไม่อยากเจ็บตัว

“มั่นใจว่า นายสุกรี (สามี) ไม่ได้ทำ เพราะก่อนเกิดเหตุตั้งแต่วันอาทิตย์ และวันพฤหัส เขาเล่นกีฬา พอมาถึงวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุตอนเช้า แบสุกรี นอนอยู่ที่บ้าน เพราะเขาเหนื่อยจากที่เล่นกีฬามาหลายวัน และระยะห่างจากบ้านกับจุดเกิดเหตุประมาณ 1 กิโลเมตร ไม่นานเจ้าหน้าที่มาที่บ้าน ค้นบ้าน แล้วบอกจะพาแบสุกรีไปโรงพัก จึงถามไปว่าพาไปทำไม เจ้าหน้าที่ก็บอกว่า ไม่มีอะไรพาไปเฉยๆ แล้วบอกให้หยุดคุย หรือถ้าจะคุยให้คุยเป็นภาษาไทย” เธอ กล่าว

ตั้งแต่วันศุกร์ เราไปเยี่ยมทุกวัน วันเสาร์เจ้าหน้าที่พาอาแบ มาเก็บดีเอ็นเอ (DNA) ที่บ้าน และวันจันทร์ จนถึงวันนี้ได้เจอเขาประมาณ 5 นาที เห็นสีหน้าเขาไม่ปกติ วันนี้เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสุขภาพอาแบ เพื่อจะขอขยายเวลาในการควบคุม เพราะเขาถูกควบคุมมาแล้ว 7 วัน ตามกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ต่อไป

“อาแบ (สามี) จะพูดมากไม่ได้ เพราะมีเจ้าหน้าที่คุมอยู่รอบๆ เขาพูดสั้นๆ แต่เราเข้าใจหมายถึงอะไร”

Cr.Tnews/MGR