‘ชาวห้วยห้อม’กับอิสระทางการเงินบนความพอเพียงปาฏิหาริย์ที่ในหลวง ร.9ทรงมอบให้

87

อิสระทางการเงินบนความพอเพียง ปาฏิหาริย์ที่ในหลวง มอบให้ชาวปกาเกอะญอ บ้านห้วยห้อม จังหวัดแม่ฮ่องสอน

เมื่อเดือนที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสดีๆ เดินทางไปบ้านห้วยห้อม อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ตอนก่อนไปก็ได้ทราบคร่าวๆ เพียงแค่ว่าที่นี่เขาปลูกกาแฟขาย

เมื่อไปถึงผู้เขียนได้พักที่บ้านชาวบ้าน เป็นการพักแบบโฮมเสตย์ของชาวบ้าน สนนราคาค่าที่พักอยู่ที่ 150 บาทต่อคน บ้านพักที่พักนั้นเป็นหลังเดียวในหมู่บ้านที่ขายอาหารให้กับนักท่องเที่ยวด้วย โดยการคิดค่าอาหารนั้นจะอยู่ที่ 70 บาทต่อคน เรียกได้ว่ากินแบบบุฟเฟ่ต์กันเลยทีเดียว คืออยากทานอะไรก็สั่งทำได้หมด เพียงแต่….จะมีเมนูเขียนขึ้นกระดาน ซึ่งเมนูนี้จะขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่มี ซึ่งบนวัตถุดิบเดียวกันจะปรับเป็นเมนูอื่นๆ ตามแต่ผู้สั่งต้องการอย่างไรก็ได้
ในช่วงวันที่เข้าพักก็จะมีถั่วหวาน ผักกูด ฟักแม้ว ไก่ ปลา ไข่ วัตถุดิบเหล่านี้ ล้วนมาจากที่ชาวบ้านปลูกและเลี้ยงทั้งสิ้น เรียกได้ว่าไม่ต้องเสียตังค์ซื้อหาเลย แม้แต่ข้าว ไม่ต้องพูดถึงหอม กระเทียม เครื่องแกง หาเอาได้ง่ายๆ จากรอบๆ บ้าน

นอกจากนี้ที่นี่ยังมีเสื้อผ้า จากการทอเองในหมู่บ้านขาย ซึ่งมีทั้งที่ทอจาก ฝ้าย และขนแกะ ซึ่งขนแกะก็ได้จากการเลี้ยงแกะเองในหมู่บ้านจากการเดินรอบๆ หมู่บ้าน การเลี้ยงสัตว์อื่นๆนอกจากแกะก็จะมีหมู ปลา วัว ควาย ไก่ ซึ่งส่วนมากเป็นการเลี้ยงปล่อยตามธรรมชาติ ดั่งคำชาวบ้านว่า “ให้เทวดาเลี้ยงให้” ต่อให้ต้องให้อาหาร ก็เป็นการใช้สิ่งที่มีเหลือกินเหลือใช้ไปเป็นอาหารให้กับสัตว์ที่เลี้ยงเหล่านี้ เรียกว่าการเลี้ยงก็ไม่ได้ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรนอกจากการซื้อแม่พันธ์มาเลี้ยงในตอนเริ่มแรกในชีวิตคนเราค่าใช้จ่ายหลักๆก็คงอยู่บน ปัจจัย 4 ที่อยู่ เสื้อผ้า อาหาร และยา จากที่เล่ามาทั้งหมด เรียกว่าชาวบ้านที่นี่แทบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายกับปัจจัย 4 เหล่านี้เลย มีที่อยู่รอบบ้านมีอาหาร เสื้อผ้าทอใส่เอง เจ็บป่วยเล็กน้อยก็มีพืชสมุนไพร และสาธารณสุขคอยดูแล แทบจะเรียกได้ว่ามีค่าใช้จ่ายเป็น 0

เมื่อพูดถึงค่าใช้จ่าย แล้วรายได้เล่า….ได้มาจากทางไหนได้บ้าง…..จากการพูดคุยกับเจ้าของโฮมสเตย์ รายได้หลักๆ ดูจะมาจากการเก็บพืชผลขายตามที่จะเหลือกิน เหลือเก็บ และนักท่องเที่ยวในหมู่บ้านแห่งนี้ที่มีปลูกพืชผักสวนครัวกินได้ทุกอย่าง จะมีนอกเหนือพิเศษไปก็คือ กาแฟ และอะโวคาโด้ และการปลูกพืชเศรษฐกิจของหมู่บ้านนี้ ก็เป็นการปลูกแสมไปกับต้นไม้ป่าที่มีอยู่แล้ว เท่าที่มองดูไม่เห็นการถางเขาเป็นลูกๆ อย่างที่อื่นทำกันในส่วนของกาแฟ เฉพาะหมู่บ้านนี้เก็บขายได้ปีละ 50-60 ตันต่อปี ซึ่งก็มีร้านกาแฟดังๆ จากทั่วประเทศมารับซื้อ และหากขายปลีกในลักษณะเป็นของฝากจะตกอยู่ที่กิโลกรัมละ 400 บาท ซึ่งก็มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาซื้อทุกวันอย่างไม่ขาดสาย ยังไม่รวมกาแฟขี้ชะมดที่ราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 80,000 บาท
หากจะประเมินด้วยสายตาแล้ว รายได้ทั่วไปจากนั่งท่องเที่ยวต่อวัน ก็อยู่วันละไม่ต่ำกว่าหมื่นบาทเลยทีเดียว ซึ่งในช่วงที่ผู้เขียนไปนั้น ยังไม่ใช่ฤดูท่องเที่ยวเต็มที่ หากเข้าช่วงฤดูหนาว คาดว่าจะเพิ่มมากกว่านี้หลายเท่าตัว มานั่งคิดๆ ดูแล้ว ชั่งเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ทีเดียว รายจ่ายแทบเป็น 0 รายได้วันละเกินหมื่น ชีวิตที่คนเมืองมักได้ยินคำโฆษณา ชวนเชื่อ ให้เป็นอิสระทางการเงิน แถมยังมีความสุขได้อยุ่ในที่ๆ อากาศดี ได้ออกกำลังกายจากกิจกรรมประจำวัน เดินเข้าป่า ขึ้นเขา ไม่ต้องพึ่งยิม พึ่งฟิสเนตกันเลยทีเดียว  ชีวิตทั้งหมดที่เล่ามาจะไม่เป็นอย่างนี้เลย หากพระบาทสมเด็จพระปรมินทร์มหาภูมิพลอดุลยเดชไม่เคยเสด็จมา หากในหลวงไม่ประทานโครงการหลวง มาพัฒนาพืชพันธุ์ และคอยให้ความรู้แก่ชาวบ้านที่นี่ จากคำบอกเล่า ของชาวบ้านที่นี่ ในหลวงเสด็จมาที่นี่ครั้งแรก ในปี 2501 และยังทรงเสด็จมาอีกหลายครั้ง ถึงการเดินทางมาที่นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย ท่านต้องลงเฮลิคอปเตอร์ แล้วเดินข้ามเขาอีกหลายสิบกิโลเมตร เพื่อเข้าพื้นที่มาพบกับชาวเขา มาดูแลพสกนิกรที่อยู่ห่างไกล

ผู้เขียนมีโอกาสได้เดินข้ามเขา เพียงแค่เศษเสี้ยวของระยะทางที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินไป เพียงเท่านี้ผู้เขียนก็หมดแรง หอบหายใจไม่ทัน แทบจะลงกองกับพื้นแล้ว แต่พระองค์ท่านไม่เคยย่อท้อเลยไม่ว่าจะกาแฟ แกะ การทอผ้า ผลิตเสื้อขนแกะ ความรู้เหล่านี้ เป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทร์มหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระราชินีเป็นผู้พระราชทานให้กับชาวบ้านห้วยห้อมแห่งนี้ จนกลายมาเป็นรายได้หลัก ทำให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สมบูรณ์ ชนิดที่เรียกได้ว่า มีความอิสระทางการเงินอย่างพอเพียง เรียกได้ว่าเป็นชีวิตที่ใฝ่ฝันของผู้เขียนเลยทีเดียว ทั้งหมดคือปาฏิหารย์ที่พระองค์ท่านมอบให้กับชาวบ้านห้วยห้อมแห่งนี้หมายเหตุ : จากนิตยสาร MTODAY ฉบับประจำเดือนตุลาคม 2559