ร้อยเรื่อง…ร้อยใจไทยมุสลิม ตอน 7 “พันธกิจแห่งความผูกพันนับวันยิ่งเบ่งบาน”

102

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กำหนดพันธกิจขององค์กรไว้ 4  ประการ  คือ วิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีฮาลาล เพื่อใช้ในการตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนสิ่งต้องห้ามทางศาสนาอิสลาม ตลอดจนงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการทางวิทยาศาสตร์เพื่อส่งเสริมงานฮาลาล ทั้งที่เป็นอาหาร สิ่งที่มิใช่อาหาร และงานบริการ
ประการที่ 2  คือ การบริการวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลแก่ภาคส่วนต่างๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ เรียกได้ว่า เป็นศูนย์กลางของงานในด้านฮาลาลโดยเฉพาะ

ประการที่ 3  ร่วมมือและสนับสนุนงานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล กับหน่วยงานทั้งใน และต่างประเทศ โดยการให้บริการแก่ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตอาหารฮาลาล และพันธกิจ

ประการที่ 4 คือ การทำงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

ห้องแล็ปศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ

ตรวจเยี่ยมและให้คำปรึกษา บริษัท ซีพีเอฟ จำกัด มหาชน

อบรมผู้ประกอบการฮาลาล
ดาโต๊ะ สะรี ฮัมซะฮฺ ไซนุดดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า สหกรณ์และผู้บริโภค ประเทศมาเลเซีย นำคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ พร้อมผู้แทนทางการค้าของมาเลเซีย เข้าเยี่ยมศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์ หวังร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลทั้ง 2 ประเทศสู่อันดับหนึ่งฮาลาลโลก

ปัจจุบันศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้บริการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ฮาลาลแก่ภาคธุรกิจ องค์กรทางศาสนา และหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงการสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์ในตลาด  เพื่อทำการตรวจวิเคราะห์สิ่งปนเปื้อนที่ต้องห้ามตามหลักการศาสนาอิสลามเป็นระยะ เพื่อดูแลมาตรฐานการผลิต และคุ้มครองผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีการจัดฝึกอบรม แลกเปลี่ยน ถ่ายทอด เผยแพร่เทคโนโลยีการวิเคราะห์และข้อมูลต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนงานวิทยาศาสตร์ฮาลาลระหว่างห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์และสถาบันทางวิชาการทั้งในและนอกโครงข่าย ดำเนินงานด้านศูนย์บ่มเพราะวิสาหกิจผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลเพื่อบริการแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยใช้วิทยาศาสตร์ฮาลาลเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงาน และยังมีส่วนของงานอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย อาทิ งานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ งานเลขานุการแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจสามฝ่าย (IMT-GT)  งานสร้างเครือข่ายวิทยาศาสตร์ฮาลาลระดับนานาชาติ ฯลฯ เป็นต้น

การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจสามฝ่าย (IMT-GT)
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สนง.ปัตตานี) จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดของนักธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้”

ด้วยพันธกิจนานัปการที่เจ้าหน้าที่ศูนย์ทุกคนรวมใจกันเป็นหนึ่ง  ภายใต้การนำของ รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน  เพื่อผลักดันให้แต่ละพันธกิจและทุกภารกิจบรรลุเป้าหมาย ในอันที่จะก่อเกิดประโยชน์ต่อสังคม ประเทศชาติ และประชาคมโลกสืบไป