“ตลาดฮาลาล” มุสลิมไทยอยู่ตรงไหน

36

“ตลาดฮาลาล” มุสลิมไทยอยู่ตรงไหน


“ตลาดฮาลาล” มุสลิมไทยอยู่ตรงไหน
โดย สมพร หลงจิ

นับตั้งแต่ปี 2482 ที่ชาวจีนคนหนึ่ง ต้องการขายสินค้าให้กับมุสลิมจึงได้วิ่งไปหา จุฬาราชมนตรีในสมัยนั้น เป็นการเริ่มต้นศักราชของ “การรับรองฮาลาล” ขององค์กรมุสลิมไทย จากสินค้า 1 รายการ เติบโตจนปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรองฮาลาลประมาณ 100,000 รายการ จากประมาณ 3,000 บริษัท และมีโอกาสเติบโตอีกมาก เนื่องจากมีโรงงานอุตสาหกรรมที่ยังไม่ขอการรับรองฮาลาลอีก 7-8 พันโรงงาน

ยิ่งเมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีกเกือบ 2 ปีข้างหน้า ตลาดสินค้าฮาลาลยิ่งเติบโตสูงขึ้นจากตลาดมุสลิมที่มีประมาณ 300 ล้านคน ครึ่งหนึ่งของประชากรของอาเซียน

“ฮาลาล” ในความหมายตามภาษาอาหรับ หมายถึง “การอนุมัติ” สำหรับมุสลิมที่เข้าใจอิสลามอย่างแท้จริงแล้ว ไม่ใช่เฉพาะการบริโภคอาหารที่ สะอาด ปลอดภัย และเป็นไปตามหลักการอิสลามเท่านั้น แต่หมายถึงการใช้ชีวิตที่ “ฮาลาล” คือ ถูกต้องตามหลักการอิสลามด้วย แต่ส่วนใหญ่มุสลิมจะเน้นเรื่องการบริภาคมากกว่าความสำคัญในด้านอื่น

“ฮาลาล” ในความหมายของการผลิตสินค้า ก็คือ เป็นสินค้าที่สะอาด ปลอดภัยจากสิ่งเจือปนที่มีโทษต่อร่างกาย และเป็นไปตามหลักการอิสลาม อาทิ สัตว์มีชีวิตจะต้องเชือดในนามพระผู้เป็นเจ้า “ฮาลาล”ตามหลักสากลก็คือ “หลักอนามัย” หลักที่เน้นความสะอาด และปลอดภัยสูงสุด แต่ “ฮาลาล” มีความลึกซึ้งของศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย  ข้อดีก็คือ เป็นความสะอาดที่หยั่งรากลึกมาจากจิตใจด้วย
การรับรองฮาลาล แต่เดิมเริ่มจากสำนักจุฬาราชมนตรี ยาวนาน 60 ปี จนมีพระราชบัญญัติบริหารกิจการอิสลาม 2540 จึงมีการจัดระบบการรับรองฮาลาลใหม่ ไปอยู่ในมือของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 39 จังหวัด โดยทั้ง 2 ส่วนนี้ จะตั้งคณะกรรมการฝ่ายกิจการฮาลาลขึ้นมารับผิดชอบ โดยคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด มีหน้าที่ตรวจรับรองฮาลาลในจังหวัดของตัวเอง ใน 39 จังหวัดมีคณะกรรมการอิสลามฯ คือ มีมัสยิดที่ได้รับการจดทะเบียนเกินกว่า 3 แห่ง ส่วนฝ่ายกิจการฮาลาลของคณะกรรมการกลางฯ จะรับผิดชอบในจังหวัดที่เหลือ

ในการตรวจรับรอง ผู้ประกอบการจะต้องจ่าย ประมาณ 10,000,15,000 และ 20,000 บาทตามขนาดของโรงงาน และมีความสลับซับซ้อนขึ้นมาอีก แม้โรงงานจะได้รับการรับรอง การออกผลิตภัณฑ์แต่ละตัวจะต้องได้รับการรองด้วย หมายถึงว่า มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม รวมทั้งจะต้องเสียค่าเครื่องหมายรับรองจากคณะกรรมการกลางฯ อีกปีละ 500 บาท ไม่จ่ายเป็นรายถือว่า การขาดอายุ ไม่สามารถใช้ได้ ซึ่งฝ่ายฮาลาลได้ตั้งหน่วยเฉพาะกิจขึ้นมา จับกุมข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ จะต้องเสียค่าปรับจำนวนมาก ซึ่งบริษัท ซีพีเอฟ เจอมาแล้ว ต้องจ่ายให้คณะกรรมการกลางฯ จำนวน 20 ล้านบาท ซึ่งถูกนำมาแบ่งกันอย่างทั่วถึงตังแต่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติจนถึงระดับหัวสุดขององค์กร

ความสลับซับซ้อนตรงนี้ทำให้ผู้ประกอบการไม่อยากจะเข้ามาขอฮาลาล ยกตัวอย่าง KFC ที่เคยได้รับการรับรองฮาลาล จากสำนักจุฬาฯ เมื่อมาเจอระเบียบใหม่ เลยเลิกการขอรับรอง แต่ใช้วิธีการตีแสกหน้าคณะกรรมการกลางฯด้วยการนำมุสลิมมาขายหน้าร้าน จนต้องร้อนรนกันยกใหญ่ แต่ทำอะไรไม่ได้ คณะกรรมการอิสลามฯของภูเก็ต จึงปรับระบบใหม่ รับรองร้าน ไม่ต้องรับรองเป็นรายผลิตภัณฑ์ซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง

บริษัทขนาดใหญ่บางบริษัท ได้ขอการรับรองฮาลาลมากถึง 3,000 ผลิตภัณฑ์ จากจำนวน 100,000 ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรอง ประมาณว่า ใน 100,000 ผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการจะต้องจ่ายเป็นค่าตรวจสอบรับรองประมาณ 1,000 ล้านบาทหรือมากกว่านั้น เงินฅจำนวนนี้หมุนเวียนอยู่ในคณะกรรมการกลางฯและคณะกรรมการอิสลามจังหวัด ทำให้เกิดการแย่งชิงตำแหน่งกันสูงในปัจจุบัน  จากอดีตที่การทำงานคล้ายเป็นงานอาสากลายเป็นการทำงานที่มีผลประโยชน์มหาศาล

ขณะเดียวกัน มีองค์กรด้านฮาลาลบางองค์กร อย่างศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ของจุฬาฯ สามารถดึงงบประมาณภาครัฐ เข้ามาจำนวนมาก 2 ปีที่ผ่านมาได้งบประมาณประมาณ 220 ล้านบาท กระจายให้คณะกรรมการอิสลามจังหวัด และจัดอีเวนต์ กระจายไปในหลายจังหวัด เป็นยุคที่ต้องเรียกว่า ฮาลาลบูม เป็นอย่างมาก คล้ายๆกับการแก้ปัญหาภาคใต้ที่ ทุกกระทรวง ทบวงกรมได้ตั้งงบประมาณขึ้นมาแก้ปัญหา งบประมาณเกี่ยวกับการพัฒนาส่งเสริมฮาลาลกระจายไปเกือบทุกกระทรวง จนบางครั้งยังไม่รู้ว่า เอาไปทำอะไร
การเติบโตของฮาลาลไทย ในจำนวน 100,000 ผลิตภัณฑ์ มีตัวเลขการส่งออกในปี 2556 ประมาณ 150,000 ล้านบาท น่าสนใจว่า ในตัวเลข 150,000 ล้านบาทนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการที่ไม่ใช่มุสลิม มีมุสลิมไม่ถึง 10% ที่ผลิจสินค้าฮาลาลเพื่อส่งออก
น่าเสียดายว่า ฮาลาล เป็นสิ่งที่อยู่คู่มากับสังคมมุสลิม แต่คนมุสลิมกลับไม่ได้ใช้ประโยชน์จากฮาลาล ทำอย่างไรจึงจะมีการส่งเสริมให้มุสลิมได้สนใจผลิตสินค้าและบริการเพื่อป้อนตลาดในประเทศ และตลาดอาเซียนที่กำลังจะกลายเป็นตลาดใหญ่
แทนที่จะแย่งชิงผลประโยชน์กัน คณะกรรมการกลางฯ ควรจะเข้ามาให้ความสำคัญตรงนี้ มากกว่าจะรับแต่ผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว

อามีน

หมายเหตุ : จากนิตยสาร ดิอะลามี ฉบับเดือนเมษายน 2557