ภาวะผู้นำศาสนาอิสลามรุ่นใหม่ สร้างมุมมอง ความคิดสร้างสรรค์ ร่วมพัฒนาองค์กร

413

กระหึ่มโดมทอง คลอง9 จุฬาฯ ปั้น 60 สุดยอดผู้นำศาสนายุคใหม่ เพื่อสังคมไทย

เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2561 ณ ศูนย์บริหารกิจการอิสลามเฉลิมพระเกียรติ คลอง 9 หนองจอก มีนบุรี กรุงเทพมหานคร นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ได้เป็นประธานเปิดโครงการอบรมหลักสูตร พัฒนาภาวะความเป็นผู้นำศาสนายุคใหม่ หลักสูตรที่ 1 รุ่นที่ 2 จำนวน 60 ท่าน หลักสูตรที่ 1 รุ่นที่ 2 ประจำปี 2561 ระหว่างวันที่ 13-22 เมษายน 2561 เป็นระยะเวลา 10 วัน โดยผู้เข้าร่วมการอบรมมาจากตัวแทนกรรมการจังหวัดต่างๆ ดังเช่น กรุงเทพมหานคร 17 คน นครสวรรค์ 3 คน กระบี่ 3 คน สมุทรปราการ 3 คน นครศรีธรรมราช 2 คน ปธุมธานี 2 คน สุราษฎร์ธานี 2 คน ระนอง 2 คน ขอนแก่น 2 คน พังงา 2 คน นราธิวาส 2 คน นครนายก 2 คน ยะลา 2 คน นนทบุรี 2 คน และจังหวัดอื่น ตราด เชียงราย เพชรบุรี ชุมพร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตรัง ลพบุรี ปัตตานี สงขลา

จุฬาราชมนตรี นายอาศิส พิทักษ์คุมพล กล่าวต้อนรับและให้พรแก่ผู้เข้าร่วมการอบรม ดังว่า การอบรมหลักสูตรนี้ถือว่าเป็นการต่อยอมความสำเร็จของ รุ่นที่ 1 ที่สามารถนำวิชาการอันเป็นองค์ความรู้ ความเข้าใจในสาขาวิชาต่างไปปรับใช้ในชุมชนและสังคมหรือในภาวะงานที่รับผิดชอบได้เป็นอย่างดี และยังเชื่อมั่นว่าผู้เข้าอบรมทุกท่านล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิอยู่แล้ว หากแต่การเข้าอบรมในหลักสูตรนี้เสมือนเป็นการเสริมทักษะการเรียนรู้ ในศาสตร์ต่างๆ ดังเช่น กลยุทธ์และกลวิธีในการนำเสนอ การเป็นผู้นำที่รู้ดี พูดดี มีหลักเกณฑ์ และวิธีการนำเสนอที่ทรงประสิทธิภาพ สัมฤทธิ์ประสิทธผลแห่งภาระกิจที่ได้ปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติที่ยั่งยืนต่อไป

นายคำภีร์ ดิษฐากรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้นำศาสนา สำนักจุฬาราชมนตรี เผยว่า การอบรมในครั้งนี้มีการเสริมสร้างความรู้ในหลายๆแขนงดังเช่น การคิดเชิงสร้างสรรค์ , การวิเคราะห์สถานการณ์เชิงกลยุทธ์, หลักการศาสนากับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, การใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารและการสื่อสารสังคม, นิติศาสตร์อิสลามเชิงการเปรียบเทียบ, เทคนิคการสั่งงาน สอนงาน มอบหมายงานและติดตามงานอย่างมีประสิทธิภาพ, การเมืองในระบบประชาธิปไตย, หลักการศาสนากับการเปลี่ยนแปลงสังคม, หลักการภาวะผู้นำ, แนวคิดสันติวิธี, อุตสาหกรรมฮาลาลกับสังคมมุสลิม, การพัฒนาบุคลิกภาพสู่ความสำเร็จ, Thailand 4.0, หลักการศาสนากับการเปลี่ยนแปลงสังคม (สังคมพหุวัฒนธรรม)

พร้อมกันนั้น จะมีการเดินทางเข้าพบผู้นำประเทศ ที่ทำเนียบรัฐบาล และเข้าเยี่ยมคารวะประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พร้อมทั้งเข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานกระบวนการผลิตอาหารฮาลาล ฝ่ายครัวการบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)และขอขอบคุณองค์กรที่ให้การสนับนุนงบประมาณโครงการดังเช่น สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย

ธนิสร เด่นชัย ตัวแทนจากขอนแก่น เผยว่า ความคาดหวังจากการอบรมหลักสูตรดังกล่าวนี้ น่าจะได้รับประโยชน์ต่างๆมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้รับทราบแนวคิด ของผู้มีประสบการณ์จากผู้เข้าร่วมอบรมด้วยกัน ทั้งนี้เพราะบุคคลแต่ละท่านต่างมีประสบการณ์ในการบริหารงานมากมาย ดังเช่น บางคนเป็นประธานจังหวัด เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในด้านการบริหารองค์กร ซึ่งล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาต่างๆมากมาย และสิ่งสำคัญนั้นคือ ตามหลักสูตรที่เข้มงวดจะมีวิทยากรที่ล้วนแล้วแต่มีความรู้มากมาย ซึ่งท้ายที่สุด จะนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคอีสาน ตามที่ทราบกันว่ามุสลิมในแต่ละชุมชน ยังมีจำนวนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรในพื้นที่ ดังนั้นในพื้นที่พหุสังคมดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องพึงพาอาศัยความร่วมมือร่วมใจของเพื่อนๆต่างศาสนิก ดังเช่น การจัดงานการกุศลในแต่ละครั้ง ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชน ในพื้นที่ ลำพังอาศัยความมีส่วนร่วมแค่มุสลิมในพื้นที่ไม่เพียงพออย่างแน่นอน ทุกครั้งก็จะมีพี่น้องชาวไทยพุทธมาช่วยเหลือในการจัดงาน และเช่นกันเมื่อพี่น้องต่างศาสนิกจัดงาน ก็จะมีตัวแทนของมุสลิมแสดงน้ำใจอันดีงามไปช่วยเหลือในกิจกรรมต่างๆ ตลอดมา ทำให้เกิดความรักความสามัคคีในพื้นที่ดังกล่าวตลอดมา

บัญญัติ ทิพย์หมัด บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์ ซึ่งเป็นตัวแทนในภาคสื่อสารมวลชน เผยว่า อนาคตสถาบันผู้นำศาสนาอิสลามแห่งนี้น่าจะเป็นความหวังใหม่ที่สำคัญ ขององค์กรมุสลิม ในการสร้างผู้นำศาสนายุคใหม่ ภายใต้การนับสนุนของสำนักจุฬาราชมนตรี เพราะด้วยหลักสูตรที่เข้มข้น ประกอบกับการสร้างเครือข่ายที่สำคัญจากผู้เข้าร่วมอบรม ตลอดระยะเวลา 10 วัน ซึ่งผู้เข้าร่วมการอบรมในหลักสูตรนี้ มีความตั้งใจอย่างมุ่งมั่นที่จะนำความรู้และประสบการณ์ไปปรับใช้ในองค์กร
กล่าวได้ว่า สิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันคือการเสียสละเวลาในช่วงวันหยุดที่สำคัญประจำปี มาฝึกฝนตัวเอง มาหลับนอนด้วยกัน มาใช้ชีวิตร่วมกัน แม้เพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่เชื่อว่าสายสัมพันธ์ดังกล่าวนี้จะมัดแน่นเป็นพลังที่จะขับเคลื่อนองค์กรมุสลิมให้เข้มแข็งท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างแน่นอน

นี้เป็นอีกหนึ่งผลงานที่น่าประทับใจของสำนักจุฬาราชมนตรีและองค์กรที่ให้การสนับสนุน ในการคิดที่จะสร้างบุคลากรคุณภาพให้กับสังคมไทย เชื่อมั่นว่า บุคคลที่ผ่านหลักสูตรดังกล่าวนี้ จะสามารถนำทักษะความรู้ วิธีคิด ตรรกะการแก้ปัญหาไปปรับใช้ในการบริหารองค์กร ภายใต้แนวคิดอิสลามนำทาง เพื่อยังประโยชน์แก่ประเทศชาติต่อไปในอนาคตนั้นเอง