ตะลึง! พบสารต้านอนุมูลอิสระสูง ใน“ทุเรียนหมอนทอง” ลดไขมันในเส้นเลือด

685
ทุเรียนหมอนทอง
คณะผู้ร่วมฟังผลงานวิจัยของศ.ดร.ชีล่า โครินสไตน์ (Professor Dr.Shela Gorinstein)

เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี ร่วมกับหอการค้าจังหวัดจันทบุรี ภายใต้โครงการจันทบุรีมหานครผลไม้ ได้เชิญ ศ.ดร.ชีล่า โครินสไตน์ (Professor Dr.Shela Gorinstein) นักวิทยาศาสตร์สายเภสัชศาสตร์ระดับโลก จากมหาวิทยาลัยฮิบรู ประเทศอิสราเอล (Hebrew University, Jerusalem, Israel) นักวิจัยอาคันตุกะของคณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เจ้าของงานวิจัย “เรื่องสารแอนติออกซิแดนต์ ในผลไม้เมืองร้อน : ประโยชน์และแนวโน้มการวิจัยในอนาคต” โดยงานวิจัยดังกล่าวนี้ได้ใช้เวลาลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และทำวิจัยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชนของไทยมาเกือบ 10 ปีแล้ว และผลงานวิจัยได้ถูกนำมาเผยแพร่ในวารสารวิชาการที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก

โดยเนื้อหาของงานวิจัยพอสรุปได้ว่า เริ่มแรกงานวิจัยนี้ทำการเปรียบเทียบทุเรียนจากสวนจังหวัดจันทบุรีจำนวน 3 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์หมอนทอง ก้านยาว และชะนี เพื่อต้องการศึกษาปริมาณสารแอนติออกซิแดนต์ (antioxidant) หรือสารต้านอนุมูลอิสระในผลไม้เมืองร้อน : ซึ่งมีประโยชน์ ลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดชนิด LDL สามารถป้องกันเส้นเลือดอุดตันที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจได้ ผลการทดลองพบว่าทุเรียนพันธุ์หมอนทองมีสารแอนติออกซิแดนต์สูงกว่าพันธุ์ก้านยาวและชะนี จึงทำการทดลองต่อไปว่า ระยะความสุกระดับใดจะให้สารแอนติออกซิแดนต์สูงสุด พบว่าทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่สุกพอดีมีสารแอนติออกซิแดนต์สูงและช่วยลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด

ทุเรียนหมอนทองในสวน

เมื่อเปรียบเทียบกับยังไม่สุก (ดิบห่าม) และสุกเกินไป (ปลาร้า) จึงนำมาเลี้ยงกับหนูทดลองได้ผลสรุปว่า หมอนทองที่สุกพอดีลดค่าคอเลสเตอรอล LDL ได้สูงสุด และตรงกับผลการทดลองในห้องแล็บ นอกจากนี้ ทุเรียนพันธุ์หมอนทองยังมีโปรตีนไฟบริโนเจน (fibrinogen) ช่วยทำให้เลือดแข็งตัว (ช่วยให้เลือดหยุดไหล) และมีสารเควอร์ซิติน (quercetin) ในปริมาณสูง สามารถป้องกันโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดตีบ และมะเร็งได้”

“สรุปได้ว่าลักษณะสำคัญ คุณลักษณะพิเศษของทุเรียนพันธุ์หมอนทอง คือ มีสารแอนติออกซิแดนต์สูงที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระและมีสารโปรตีนพิเศษเควอร์ซิตินที่ยังไม่มีการวิจัยมาก่อน

รศ.ดร.รติพรกล่าวว่า หากมีการนำงานวิจัยนี้ไปต่อยอดเพิ่มเติมว่า คนที่เป็นเบาหวานสามารถรับประทานทุเรียนได้หรือไม่ เพราะในงานวิจัยพบว่า หนูทดลองที่ได้รับทุเรียนหมอนทองไม่ได้มีปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น หนูที่ใช้ทดลองไม่ได้เป็นเบาหวาน ซึ่งเป็นโอกาสดีหากมีการต่อยอดทดลองกับผู้บริโภคเป็นเรื่องสำคัญ และต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก หากได้การสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐจะเกิดประโยชน์กับประเทศไทยอย่างยิ่ง

รศ.ดร.สุมิตรา ภู่วโรดม อดีตอาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ด้าน รศ.ดร.สุมิตรา ภู่วโรดม อดีตอาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ร่วมงานวิจัยกล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นความโชคดีของประเทศไทยที่ ดร.ชีล่า โครินสไตน์ สนใจทำงานวิจัยนี้ โดยได้รับเงินสนับสนุนบางส่วนจากเงินกองทุนจัดงานพืชสวนก้าวหน้า ถ้าเป็นการทำงานวิจัยโดยทั่ว ๆ ไปต้องใช้วงเงินมหาศาลและหานักวิจัยที่เก่งจริงมาทำยากมาก เพราะแม้กระทั่งห้องปฏิบัติการที่จะทำในสัตว์ทดลองได้จะต้องมีใบรับรอง และต้องมีผู้เชี่ยวชาญอยู่ งานนี้ต้องไปใช้ห้องแล็บถึงมหาวิทยาลัยวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ซึ่ง ดร.ชีล่ามีเครือข่ายงานวิจัยนี้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมเกษตรไทยแลนด์ 4.0 หากภาครัฐส่งเสริมให้มีการทำวิจัยต่อยอดให้สำเร็จ นำไปใช้ประโยชน์กับคนได้จริง จะเชื่อมโยงเศรษฐกิจของประเทศ เชื่อมกับยุทธศาสตร์ที่ให้จันทบุรีเป็นเมืองมหานครผลไม้

“อนาคตพื้นที่ปลูกทุเรียนมีทั้งในไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม และจีน รวมทั้งมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ปริมาณทุเรียนในตลาดจำนวนมหาศาลจะนำข้อมูลอะไรไปบอกผู้บริโภคในตลาดโลกว่า ควรบริโภคทุเรียนพันธุ์หมอนทองจากไทย หรือเจาะลึกว่าต้องเป็นทุเรียนหมอนทองของ จ.จันทบุรี หากมีการวิจัยต่อยอดงานนี้ให้ได้คำตอบว่า ทุเรียนพันธุ์หมอนทองของไทยมีคุณภาพที่เหมาะกับการบริโภคเพื่อสุขภาพ แตกต่างจากทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่ปลูกทั่ว ๆ ไป นั่นคือความยั่งยืนของเกษตรกรชาวสวนทุเรียนจะได้ไม่ต้องปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นหมุนเวียนกันเช่นอดีตที่ผ่านมา”

ด้าน ดร.วศิน ยุวนะเตมีย์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรีกล่าวเพิ่มเติมว่า งานวิจัยนี้มีประโยชน์มากและเหมาะกับโอกาสที่เป็นช่วงขาขึ้นของตลาดทุเรียน เป็นจุดขายทำให้ทุเรียนหมอนทองไทยแข่งขันกับทุเรียนมูซังคิงของมาเลเซียได้ เพราะมูซังคิงเป็นทุเรียนที่สุกเกินพอดี นอกจากนี้ ผลวิจัยเรื่องผลไม้เมืองร้อนยังเป็นประโยชน์กับแพทย์แผนโบราณ ด้านเภสัชกรรม แต่น่าเสียดายที่คนไทยรับรู้เรื่องนี้น้อยมาก มหาวิทยาลัยบูรพากำลังทำข้อมูลให้อ่านเข้าใจง่าย ๆ ทั้งภาคภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เพื่อนำไปใช้ในทางปฏิบัติ หากได้ต่อยอดจะทำให้นำผลวิจัยออกไปใช้ในเชิงเศรษฐกิจของประเทศไทยได้

นายปราโมช ร่วมสุข ประธานสถาบันทุเรียนไทย อดีตประธานกรรมการหอการค้าภาคตะวันออกและจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า กระแสทุเรียนฟีเวอร์ทำให้เกษตรกรหลงทางเสาะหาทุเรียนพันธุ์โบราณ หรือพันธุ์แปลก ๆ มาปลูก ซึ่งเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ไม่ใช่เชิงเศรษฐกิจการค้า ไม่ใช่การสร้างมูลค่าเพิ่ม แต่งานวิจัยทุเรียนพันธุ์หมอนทองของไทยว่ามีลักษณะพิเศษทั้งสารแอนติออกซิแดนต์ ต้านอนุมูลอิสระและสารพิเศษที่มีโปรตีน ภาครัฐควรให้ความสำคัญสนับสนุนงบประมาณไปต่อยอดให้งานวิจัยมีผลกับผู้บริโภค นั่นคือการสร้างมูลค่าเพิ่ม และเป็นแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรไทยได้อย่างยั่งยืน เพราะสามารถตอบคำถามให้ผู้บริโภคทุเรียนในตลาดโลกได้ว่า ทำไมต้องรับประทานทุเรียนหมอนทองไทย นั่นคือจุดขายที่สุดยอด ซึ่งจะทำให้การปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองของไทยยั่งยืน โดยเฉพาะกับจังหวัดจันทบุรีที่ยุทธศาสตร์ของประเทศปั้นให้เป็นเมืองมหานครผลไม้

ม.บูรพา วิทยาเขตจันทบุรี

Source: https://www.prachachat.net/local-economy/news-197052,

https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_68605

ขอขอบคุณแฟ้มไฟล์ภาพจากอินเตอร์