เหตุเกิดสมัยภท.คุมมหาดไทย เพิ่งถึงศาลปกครองสูงสุด สั่งทุเลา 89 ขรก.ถูกให้ออก

127

ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งปลดข้าราชการกรมการปกครองรวม 89 คนออกจากราชการ กรณีทุจริตสอบเข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

วันที่ 16 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ ฟบ.๑๑/๒๕๕๙ ของศาลปกครองสูงสุด ระหว่าง นายคิม ปรีเปรม กับพวกรวม ๘๙ คน ผู้ฟ้องคดี กับ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ที่ ๑ กับพวกรวม ๖ คน ผู้ถูกฟ้องคดี

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า คำสั่งปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ กรณีทุจริตสอบเข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว โดยผู้ฟ้องคดีมีคำขอวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา ขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้อำนาจแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ในการไต่สวนกรณีที่มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำความผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ ดังนั้น หากการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกร้องเรียนได้กระทำความผิดวินัยฐานอื่น อันมิใช่ฐานทุจริตต่อหน้าที่เช่นในคดีนี้ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชี้มูลว่า ผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่า เป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง

กรณีดังกล่าวจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ (อธิบดีกรมการปกครอง) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ (อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) และผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ๖ (อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ) จะต้องถือเอารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงและความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ แล้วพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีมติโดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอีกได้
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ จึงต้องดำเนินการสอบสวนทางวินัยผู้ฟ้องคดีที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของตนตามขั้นตอนของกฎหมาย แล้วออกคำสั่งลงโทษตามฐานความผิดที่ได้ดำเนินการสอบสวนใหม่ต่อไป ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ มีคำสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามข้อพิพาทนี้ โดยไม่ได้ดำเนินการสอบสวนทางวินัยก่อนออกคำสั่ง คำสั่งลงโทษดังกล่าวจึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหากต่อมาศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่าคำสั่งปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ ผู้ฟ้องคดีมิได้รับราชการ ย่อมทำให้ผู้ฟ้องคดีหมดโอกาสในการเลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษหรือตำแหน่งหน้าที่ที่สูงขึ้น หรือหากได้เกษียณอายุราชการไปแล้ว ผู้ฟ้องคดีดังกล่าวย่อมไม่อาจกลับเข้ารับราชการได้ ดังนั้น หากให้คำสั่งปลดผู้ฟ้องคดีดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไป ย่อมเป็นกรณีที่ยากจะเยียวยาแก้ไขความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ในภายหลัง

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะระหว่างการให้ผู้ฟ้องคดีได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลไปก่อน ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทางราชการที่จะได้บุคลากรกลับมาปฏิบัติหน้าที่ อันจะเป็นผลให้มีกำลังคนหรือบุคลากรเพิ่มขึ้นในการบริหารราชการแผ่นดินหรือการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐ ก่อให้เกิดความรวดเร็วและต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น
ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น