จีนซื้อไม่อั้นทุเรียนชุมพร นับแสนตันเป็นหมื่นล้าน

192

ผลผลิตทุเรียนชุมพรออกสู่ตลาดมากกว่า 2 แสนตัน สร้างรายได้กว่าหมื่นล้าน เจ้าของล้งยืนยัน นโยบายคุมมาตรฐาน GAP กรมวิชาการเกษตร ทำให้อนาคตส่งออกตลาดจีนสดใสมากขึ้น

จังหวัดชุมพร ถือเป็นแหล่งผลิตทุเรียนที่สำคัญของภาคใต้ ซึ่งข้อมูลในปี 2560 จ.ชุมพร มีเนื้อที่ปลูกทุเรียน 164,099 ไร่ เนื้อที่เก็บเกี่ยว 114,572 ไร่ ผลผลิตมีจำนวน 128,894 ตัน เป็นผลผลิตตามฤดูกาลที่ออกในช่วงเดือนกรกฎาคม และจะออกมาระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคมของทุกปี และยังมีผลผลิตนอกฤดูกาลหรือที่เรียกว่า “ทุเรียนทวาย” จึงทำให้ทุเรียน จ.ชุมพร มีผลผลิตออกสู่ตลาดได้ตลอดทั้งปี สร้างรายได้ให้แก่จังหวัดไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท และเกษตรกรได้หันมาปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะมีราคาสูง จึงเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกทุเรียนกันมากขึ้น

สำหรับปี 2562 นายวิบูลย์ รัตนาภรณ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า จากการประมาณการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าผลผลิตทุเรียนใน จ.ชุมพร จะมีเพิ่มขึ้นมากถึง 240,000 ตัน รวมมูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ในสัดส่วนการส่งออกต่างประเทศ 70% และภายในประเทศ 30%

ขณะที่ประเทศจีนยังเป็นตลาดผู้บริโภครายใหญ่ และได้มีความเข้มงวดในเรื่องการรับซื้อทุเรียนมากขึ้น โดยทุเรียนที่ส่งออกไปยังประเทศจีนจะต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP และมาตรฐาน GMP สำหรับโรงคัดบรรจุ ที่กรมวิชาการเกษตร ของประเทศไทยได้กำหนดมาตรฐานไว้ ทั้งหลักเกณฑ์ในการจัดการ ขั้นตอนพื้นฐานของกระบวนการผลิต ซึ่งเน้นการป้องกันมากกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องทุเรียนอ่อนและไม่ได้คุณภาพ

นายสุรพงษ์ สินวิสัย อายุ 42 ปี กล่าวว่า ตนเองเป็นผู้ดูแลล้งรับซื้อทุเรียนทุเรียนส่งออกใน จ.ชุมพร มีล้งในเครือเจ้าของเดียวกัน 2 แห่ง ตลาดส่งออกทุเรียนตอนนี้ยังถือว่าสดใส หลังจากทางล้งได้ดำเนินการขอ GMP เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนให้ชื่อเข้าไปอยู่ในระบบของประเทศจีนเท่านั้น ก็สามารถบรรจุกล่องส่งออกได้ แต่ระหว่างนี้ได้ส่งทุเรียนให้แก่ล้งในเครือที่ผ่าน GMP เป็นผู้ส่งออกทุเรียนแทน

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การที่กรมวิชาการเกษตร มีนโยบายให้ล้งทำ GMP (Good Manufacturing Practice : GMP) ทำให้โรงคัดบรรจุต้องมีมาตรฐาน GMP เพื่อให้มีการตรวจสอบย้อนกลับทุเรียนที่มีปัญหา ถือเป็นการรับรองมาตรฐานทุเรียนไทยที่ส่งออกตลาดต่างประเทศให้มีมีคุณภาพมากขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ดีเพราะจะทำให้สามารถตรวจสอบได้ว่าทุเรียนที่ส่งออกมาจากล้งใด เพราะก่อนหน้านี้ จะมีข่าวการตัดขายทุเรียนอ่อนส่งไปขาย แล้วสินค้าถูกตีกลับส่งผลให้ราคาทุเรียนตกต่ำ และไม่สามารถตรวจสอบได้จนเกิดปัญหาขึ้นมา

หลังจากที่มีนโยบายเรื่องมาตรฐาน GMP ส่งผลให้ล้งต้องเข้มงวดในเรื่องการรับซื้อทุเรียนมากขึ้น เมื่อมีชาวสวนหรือพ่อค้าเอาทุเรียนมาขายที่ล้ง การดูเปอร์เซ็นต์ของทุเรียนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมาก ทุเรียนที่จะส่งออกจะต้องมีความแก่ไม่ต่ำกว่า 80% จากนั้นก็จะนำมาที่จุดคัดแยกลูกทุเรียนที่มีไซส์ตั้งแต่ขนาดไซส์ A B C จนถึงตกไซส์ A B C ซึ่งเป็นเกรดที่ยังสามารถส่งออกลงกล่องได้ และเมื่อคัดแยกเรียบร้อยก็นำทุเรียนที่ได้มาป้ายยา ชุบน้ำยาและเป่าให้แห้งก่อนบรรจุลงกล่อง และชั่งน้ำหนัก แล้วนำขึ้นในตู้บรรจุสินค้า ซึ่งการรับรองคุณภาพตาม GMP ทำให้โรงบรรจุมีมาตรฐาน มีสัดส่วนที่ชัดเจน ส่งผลให้ตลาดส่งออกดีขึ้นอย่างมาก

ด้าน นางอารีย์ อ่ำฉอ้อน อายุ 51 ปี ผู้รับซื้อทุเรียน กล่าวว่า การที่กรมวิชาการเกษตรมีนโยบายในเรื่อง GMP และ GAP นั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้มาตรฐานในเรื่องการส่งออกมีคุณภาพมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือชาวสวนและมือมีดหรือคนตัดทุเรียนคือตัวการสำคัญที่จะทำให้ทุเรียนที่ตัดออกมาสู่ตลาดมีคุณภาพหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา ชาวสวนรีบตัดทุเรียนออกมาขายก่อนกำหนด ส่งผลให้ทุเรียนไม่ได้คุณภาพ เปอร์เซ็นต์ต่ำกว่าเกณฑ์ ราคาที่รับซื้อจึงต่ำไปด้วย แต่หากชาวสวนทำตามนโยบายที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำในเรื่องมาตรฐาน GAP จะส่งผลให้การส่งออกทุเรียนมีคุณภาพอย่างแน่นอน

นางอารีย์ กล่าวอีกว่า สำหรับในฤดูกาลนี้คาดว่าภาคใต้จะมีทุเรียนที่ออกมาสู่ตลาดไม่ต่ำกว่า 4 แสนตัน จะไม่มีปัญหาผลกระทบเรื่องทุเรียนล้นตลาดและราคาจะตกต่ำ เพราะจาก 3 ปีที่ผ่านมาในช่วงเดียวกัน ราคาและผลผลิตก็ไม่ต่างจากกันมากนัก อีกทั้งประเทศจีนยังมีความต้องการผลผลิตอีกเป็นจำนวนมาก