กลุ่มอุตฯหินอ่อน-แกรนิตป่วน หลังอินเดีย-จีนบุกไทย วอนรัฐช่วยกิจการคนไทย

520

อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างไทยป่วนหนักหลังพหินแกรนิตราคาถูกจากจัน-อินเดียตีตลาดไทย วอนภาครัฐและกลุ่มบิ๊กรับเหมาสนับสนุนใช้วัสดุไทย ช่วยกิจการคนไทย

นายกมล  วรรธนคณิณ  กรรมการผู้จัดการ  บริษัท พีเอ็นบี อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างและตกแต่งประเภทหินแกรนิติ และ ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเปิดเผย ว่าปัจจุบันพบว่ามีการนำเข้าหินแกรนิตจากอินเดียและจีนรุกตลาดในเมืองไทยซึ่งถือเป็นปีแห่งการแข่งขันที่รุนแรงมากจากกรณีที่รัฐบาลเร่งผลักดันโครงการขนาดใหญ่หรือเมกะโปรเจ็กต์หลายโครงการจึงเป็นที่ต้องการของตลาดจากต่างประเทศ

จึงขอวิงวอนให้ภาครัฐให้การสนับสนุนผู้ผลิตหินแกรนิตในประเทศไทย แม้จะราคาแพงกว่าบ้างแต่ก็มีรายได้หมุนเวียนในประเทศไทย อีกทั้งการเสียภาษีอย่างถูกต้อง และก่อให้เงินหมุนเวียน ให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ในประเทศ จากการใช้แรงงานคนไทยในเหมืองหินต่างๆ สนับสนุนการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ นั่นเอง

ประการสำคัญอยากให้รัฐบาลเร่งอนุมัติสัมปทานบัตรเพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตให้รองรับได้อย่างเพียงพอ ซึ่งล่าสุดนั้นการผลิตในโรงงานที่จ.ประจวบคีรีขันธ์สามารถป้อนให้กับโครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคมได้อย่างเพียงพอ ทั้งรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีเขียวที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง

“ประเทศไทยมีของดีอย่างหินแกรนิตคุณภาพอยู่หลายพื้นที่จึงอยากให้สถาปนิกและวิศวกรสนใจนำไปออกแบบใช้งานให้มากขึ้น ปัจจุบันบริษัทมีเหมืองหินที่จ.ตากและจ.ประจวบคีรีขันธ์ จุดเด่นของหินแกรนิตในประเทศไทยมีลวดลายที่งดงาม และแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่จึงอยากให้รัฐและบริษัทรับเหมาชั้นนำผู้ได้รับการประมูลโครงการต่างๆเล็งเห็นถึงการจ้างแรงงาน การสร้างรายได้หมุนเวียน  ตลอดจนการนำวัสดุคุณภาพดีในประเทศออกมาสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจกับโครงการต่างๆ ให้คนไทยได้ใช้วัสดุที่มีคุณภาพดี มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน บำรุงดูแลรักษาง่าย”

ปัจจุบันบริษัทเตรียมกำลังการผลิตหินแกรนิตที่มีอยู่ราว 5 แสนตร.ม. โดยสามารถรองรับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐได้อย่างเพียงพอไปอีกหลายสิบปี อีกทั้งยังมีอยู่ในสต๊อกอีกจำนวนมากหลายล้านตร.ม. ซึ่งเศษหินสามารถนำมาโม่ใช้เป็นรองรางรถไฟได้อีกด้วย

“อยากให้รัฐบาลมีคำสั่งเชิญประชุมกลุ่มย่อยในอุตสาหกรรมนี้โดยเร็วเพื่อเร่งขับเคลื่อนให้เห็นผลเป็นรูปธรรม สมาคมที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทางหลวง การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และอีกหลายหน่วยงาน ร่วมบูรณาการ”

ข้อมูล ฐานเศรษฐกิจ