ทุกคณะหน่วยงานในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นำผลงานวิชาการ วิจัย และนวัตกรรม ม.อ.เพื่อสังคม จัดแสดงให้ประชาชนชมในงาน ม.อ.วิชาการ ประจำปี 2562 ชูประเด็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม สังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืน ระหว่างวันที่ 29-30 สิงหาคม 2562 เชื่อมั่นจะทำให้สังคมและชุมชนได้ประจักษ์ถึงผลงานด้านวิชาการ งานวิจัย การบริการวิชาการ ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนด้านการศึกษาให้สอดคล้องกับการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ดร.พงศ์เทพ ไข่มุกด์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ม.อ.วิชาการ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมี ผศ.ดร.มนทิรา ลีลาเกรียงศักดิ์
รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลา นครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวรายงานความว่า การจัดงาน ม.อ.วิชาการ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัย นวัตกรรม การบริการวิชาการ ตลอดจนบูรณาการองค์ความรู้เพื่อพัฒนาต่อยอดให้กับชุมชนและสังคมทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศและระดับนานาชาติ ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ดำเนินภารกิจที่มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายบ่มเพาะคนดี ชี้นำสังคม สั่งสมปัญญา พัฒนางานวิจัย กอปรกับมหาวิทยาลัยมีการดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 51 ปี ในปีนี้มหาวิทยาลัยจึงได้จัดงาน ม.อ.วิชาการ ชูประเด็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม สังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืน
กิจกรรมประกอบด้วย การเสวนาเรื่อง “ม.อ. กับนวัตกรรม เพื่อ
การพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยคณาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้แก่ ผศ.ดร.จรีรัตน์ รวมเจริญ ผศ.ดร.วรากร ลิ่มบุตร ดร.สมพร ช่วยอารีย์ และ ดร.จิรัชยา เจียวก๊ก และในวันที่ 30 สิงหาคม 2562 เวลา 10.00-12.00 น. ณ อาคารอเนกประสงค์ ภาควิชาพลศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี พบกับการเสวนาเรื่อง “แรงบันดาลใจ” โดยนักกีฬาวอลเลย์บอลทีมชาติไทย ได้แก่ นางสาวทัดดาว นึกแจ้ง นางสาวพิมพิชยา ก๊กรัมย์ และนางสาววิภาวี ศรีทอง
นอกจากนี้มีกิจกรรมที่น่าสนใจประกอบด้วย การบรรยายเตรียมพร้อมเพื่อสอบเข้าบรรจุครูในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ , การอบรมครูหัวข้อ Stem+ Start up ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง , การสัมมนาทิศทางการทำงานสังคมสงเคราะห์ในบริบทพื้นที่ภาคใต้ , โครงการนำเสนอแผนธุรกิจอิสลาม , โครงการ 5 Minute Talk ธุรกิจอิสลาม ยุค 4.0 , กิจกรรมด้านพลังงานทดแทน , ศิลปะพบผืนผ้า : ลีมาบาติกกับเยาวชนชายแดนใต้ , การสังเกตเครื่องหมายฮาลาล ,
การตอบปัญหาเศรษฐศาสตร์และการเงินอิสลาม , ปัญหาทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ , การแข่งขันประกวดสิ่งประดิษฐ์,
การวาดภาพผลงานที่สร้างสรรค์ , การอ่านข่าวโทรทัศน์ , การออกร้านสาธิตและจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน ,
การนำเสนอนวัตกรรมเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเล , การเพาะเลี้ยงหอยหวาน , การจัดแสดงหุ่น CPR หุ่นเต้านมเทียม
ตรวจมะเร็งเจลยาง , การสาธิตการช่วยฟื้นคืนชีพ CPR สำหรับผู้ป่วยจมน้ำ , สาธิตและจัดแสดงการทำรองเท้าทะเลจร
ให้ความรู้เกี่ยวกับขยะทะเล และเปิดให้เข้าชมโดมดาราศาสตร์ท้องฟ้าจำลอง เป็นต้น กิจกรรมในครั้งนี้จะสะท้อนถึงบทบาทและภารกิจของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีในการบูรณาการการเรียนการสอน การวิจัย และบริการวิชาการ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและสังคมซึ่งสอดคล้องกับพหุวัฒนธรรม
ดร.พงศ์เทพ ไข่มุกด์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ประธานในพิธีเปิดงาน ม.อ.วิชาการ กล่าวว่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในภาคใต้ที่ก่อตั้งและดำเนินภารกิจด้านการศึกษามาร่วมระยะเวลา 51 ปี ได้ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพรวมทั้งให้บริการด้านวิชาการแก่ชุมชนและท้องถิ่น โดยยึดมั่นในพระราช
ปณิธานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ว่า “ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” มาเป็นแนวทางการดำเนินภารกิจตลอดมา ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม ชุมชนและประเทศชาติ การจัดงาน ม.อ. วิชาการในปีนี้ ถือเป็นโอกาสดีอีกวาระหนึ่งที่จะแสดงถึงศักยภาพของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ให้สังคมได้ประจักษ์
ถึงผลงานด้านวิชาการ ผลงานวิจัย นวัตกรรม และการบริการวิชาการแก่ชุมชน รวมทั้งเผยแพร่ผลงานด้านวิทยาการและเทคโนโลยี การคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ด้านอนุรักษ์พลังงาน การส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่กับชุมชน นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยได้ดำเนินภารกิจกับภาคเอกชน และประชาคมในการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้มหาวิทยาลัยมีความใกล้ชิดและเกิดสัมพันธภาพอันดีกับชุมชนและภาคเอกชนมากขึ้น จึงเชื่อมั่นว่าผู้เข้าร่วมงาน
ในครั้งนี้ จะได้รับประโยชน์และเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจจากการเข้าร่วมฟังบรรยาย อบรม สัมมนา การเข้าชมนิทรรศการ การแสดงผลงานและการพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็นกับนักวิชาการด้านต่าง ๆ .