สหรัฐฯร่อนหนังสือ กดดัน “บิ๊กตู่-7รมต.”ปมประกาศ “แบน” สารเคมีเกษตรฯ

59

ทูตสหรัฐ ร่อนหนังสือ ถึง “บิ๊กตู่-7 รมต.” กดดันให้พิจารณาแบน หรือ สั่งห้าม นำสารเคมี 3 ชนิด ส่งผลกระทบต่อการนำเข้า สินค้าการเกษตร ชี้ “ไกลโคเซต” ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก หาก จัดหาสารชนิดอื่นมาทดแทนไม่ได้ มีปัญหาแน่

24 ตุลาคม 2562 มีรายงานว่า สถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายดอน ปรมัติวินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เนื้อหาสำคัญว่า กระทรวงเกษตรสหรัฐ ได้ตรวจสอบผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทยในการสั่ง “แบน” ห้ามสารเคมีเกษตร 3 ประกอบด้วย พาราควอต, กลูโคซิเนต และ ไกลโซเฟท ชนิดมาใช้ในการเกษตร

ทางสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ยังได้แนบเอกสาร จากกระทรวงเกษตรของสหรัฐ ส่งถึง นายกรัฐมนตรีของไทยด้วยว่า การแบนสาร “ไกลโฟเซต” โดยไม่พิจารณาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่ อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวสาลีของไทย จึงหวังว่าประเทศไทยจะพิจารณาความกังวลนี้ เพราะ “ไกลโฟเซท” เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ยาฆ่าแมลงที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและศึกษาอย่างจริงจังในโลก หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (EPA) ประเมินแล้วว่าไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ สอดคล้องกับความคิดเห็นทางวิทยาศาสตร์ของหน่วยงานอื่นทั้งญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และองค์การเกษตรแห่งสหประชาชาติ จึงขอให้ชะลอการตัดสินใจเกี่ยวกับ “ไกลโฟเซต” เพื่อหาทางออกสำหรับสหรัฐอเมริกา

คาดการณ์ว่า จะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจากการห้าม 3 ประการ คือ 1.เกษตรกรไทยจะต้องเผชิญกับต้นทุนสารเคมีทดแทนสูงขึ้น 75,000-125,000 ล้านบาท ของราคาตลาดของไทยในปัจจุบัน  2.หากไม่พบสารเคมีทดแทนที่เหมาะสม เนื่องจากกลูโคซิเนต มีแอมโมเนียม มีพิษมากกว่า ไกลโฟเซท แต่ น้อยกว่าพาราควอต ส่งให้ต้นทุนแรงงานสูงขึ้นสำหรับการปราบวัชพืช และทำให้เกิดความเสียหายผลผลิตพืช คาดว่าจะสูงถึง 128,000 ล้านบาท 3.สิ่งที่สหรัฐกังวลมากที่สุด คือ จะมีผลกระทบต่อการนำเข้าถั่วเหลือง ข้าวสาลี กาแฟ แอปเปิ้ล และองุ่น   มูลค่า 51,000ล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยอมรับว่าต้องศึกษารอบด้านในการหาสารทดแทนเข้ามาใช้ เพราะกระทบหลายส่วน