นักการทูตเสนอฟ้องศาลโลกซูจีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา

6377

นักการทูตเสนอ ฟ้องศาลโลก ซูจีฆ่าล้างเผ่าพันธ์โรฮิงญา อดีตเลขาธิการอาเซียน ชี้รัฐบาลเมียนมาต้องจริงใจแก้ปัญหาร่วมกับนานาชาติ

นายโคฟี่ อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ และประธานคณะกรรมาธิการสอบสวนกรณีรัฐยะไข่ เมียนมา ได้ลงพื้นที่รัฐยะไข่ ที่เกิดสถานการณ์ความรุนแรงจากทหารเมียนเข้ากวาดล้างชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา มีการสังหารผู้บริสุทธิ์ เผาบ้านเรือนราษฎรและขับไล่ออกนอกพื้นที่ เพื่อหาข้อสรุปถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไขเสนอต่อรัฐบาลเมียนมาและสหประชาชาติ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นายอันนัน ได้เดินทางเข้าพื้นที่หลังจากก่อนหน้านี้ถูกทางการเมียนกีดกัน

การทำงานของนายอันนัน ได้ประสานความร่วมมือกับหลายภาคส่วน อาทิ รมว.ต่างประเทศอาเซียนบางประเทศ รวมทั้งดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน เพื่อขอคำปรึกษาและหาทางออกในการแก้ปัญหา

รายงานจากนักการทูตแจ้งว่า กระแสจากประเทศต่างๆ ได้กดดันมายังอินโดนีเชียและมาเลเซีย ในฐานะประเทศมุสลิมในอาเซียนให้ดำเนินการกดดันเมียนมายุติการกวาดล้างชาวโรฮิงญา ซึ่งมาเลเซียได้มีปฏิบัติต่อเรื่องนี้ค่อนข้างรุนแรง รมว.ต่างประเทศมาเลเซีย ได้เชิญทูตเมียนมาสอบถามและยื่นข้อเรียกร้อง

“ที่น่าสนใจคือ คือท่าทีของนาจิ๊บ ราซัค ที่ออกมาพูดค่อนข้างรุนแรงว่า พฤติกรรมของเมียนมาในการกวาดล้างชาวโรฮิงญา เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และบอกว่า จะไม่กระทำตามกฎของอาเซียนที่ห้ามแทรกแซงประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเห็นการก่ออาชญากรรมอยู่เบื้องหน้า” แหล่งข่าวจากนักการทูต กล่าว และให้ความเห็นว่า ท่าทีของมาเลเซียได้เปลี่ยนแนวทางของประเทศอาเซียนค่อนข้างชัดเจนกรณีการไม่แทรกแซงประเทศเพื่อนบ้าน และคำพูดว่า ทหารเมียนมาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญานั้น สามารถฟ้องร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศได้ เพื่อให้สอบสวนนำตัวคนผิดมาลงโทษ ซึ่งกระบวนการฟ้องร้องสามารถดำเนินการได้แม้เมียนมาไม่ลงสัตยาบรรณก็ตาม หากศาลอาญาระหว่างประเทศรับคำร้อง ก็จะส่งอัยการมาสอบสวนกรณีที่เกิดขึ้น

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า ได้ประสานอย่างใกล้ชิดกับคณะของนายโคฟี่ อันนัน เพื่อหาทางยุติปัญหาในรัฐยะไข่เพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหา ซึ่งต้องให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมมือกัน

“สมัยเป็นเลขาธิการอาเซียน เกิดวิบัติภัยนากีส ทางการเมียนมาไม่ยอมให้ความช่วยเหลือจากภายนอกเข้าไป ก็ได้ประสานจนได้ข้อยุติให้มีกรรมการ 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายเมียนมา สหประชาชาติ และอาเซียน ได้ทำงานร่วมกัน มีเมียนมาเป็นประธาน ทำให้สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบได้ ซึ่งกำลังมีการประสานให้เกิดแนวทางในลักษณะนี้เพื่อแก้ปัญหา โดยนายโคฟี่อันนัน ได้นัดหมายหารือกับผม ในการสัมมนา เรื่องประชาธิปไตยที่บาหลี อินโดนีเชีย ในต้นเดือนธันวาคม ซึ่งจะได้หารือกันเพื่อหาทางออก” ดร.สุรินทร์ กล่าว และว่า ขณะนี้มีความพยายามผลักดันให้มีการประชุมรมว.ต่างประเทศอาเซียนเพื่อมีมติในกรณีนี้

อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า การแก้ปัญหาโรฮิงญารัฐบาลเมียนมาจะต้องจริงใจ และร่วมมือกับนานาชาติ สิ่งแรกแรกที่ต้องทำก็คือ การยุติการใช้ความรุนแรงกับชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาและชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่น 2. เปิดให้มีการเข้าไปสอบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างโปร่งใส และเปิดให้เข้าไปบรรเทาทุกข์ผู้ได้รับผลกระทบ