ฟ้ามีตา! อัยการชื่อดัง ชี้ คำร้อง กกต. ยุบ พรรคอนาคตใหม่ ส่อมีปัญหา

164

อัยการ ชี้ คำร้อง กกต.ยุบอนาคตใหม่ ส่อมีปัญหา  ขัดระเบียบ การสืบสวน การไต่สวน และ พรป. พรรคการเมือง มาตรา 93 ส่งผลให้ สำนวนไต่สวนอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

วันที่ 15 ธ.ค. ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัด ประจำ สำนักงานอัยการสูงสุด อาจารย์ผู้บรรยายวิชากฎหมาย วิธีพิจารณาความ และพยานหลักฐาน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รามคำแหง นิด้า และ แม่ฟ้าหลวง ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ค กรณี กกต.มีมติยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา ข้อสังเกตต่อความชอบด้วยกฎหมายของกระบวนการไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด ของ กกต. มีข้อความว่า

ตามที่เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.62 กกต. มีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 กรณีที่พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 191,200,000 บาท ซึ่ง กกต. ถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืน มาตรา 72 โดยยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่พรรคอนาคตใหม่

ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล

ผมขอให้ข้อสังเกตที่เป็นความเห็นทางวิชาการ และไม่มีเจตนาก้าวล่วงคำวินิจฉัยของ กกต.และของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

1. พรป. พรรคการเมืองฯ มาตรา 93 ให้อำนาจในการงดการแจ้งข้อกล่าวหาหรือไม่เพียงใด

ตาม พรป. พรรคการเมือง ฯ มาตรา 93 วรรคหนึ่ง กำหนดหลักการไว้ว่า เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งก็คือเลขาธิการ กกต. ว่า พรรคการเมืองใดกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 72 ให้นายทะเบียน มีอำนาจในการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อ กกต. เพื่อพิจารณา

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กกต.กำหนด

โดยมาตรา 93 ไม่ได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้มีอำนาจในการงดแจ้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด แต่มาตรา 93 กำหนดไว้แต่เพียงว่า การรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน และการเสนอความเห็นต่อ กกต. เพื่อพิจารณา

2. ขั้นตอน และ กระบวนการไต่สวนตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด เมื่อไต่สวนเสร็จแล้วมีพยานหลักฐานฟังได้ ให้แจ้งข้อกล่าวหาและให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อกล่าวหา

แต่ปรากฏว่า จากคำแถลงของนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต.ว่า ไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ อันสอดคล้องกับที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการ พรรคอนาคตใหม่แถลงว่า ได้มีการดำเนินกระบวนการไต่สวนไปแล้ว โดยประธานคณะกรรมการสืบสวน และได้เชิญพรรคอนาคตใหม่ไปชี้แจงแล้ว 3 ครั้ง  โดยยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาและให้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแต่อย่างใด

ดังนั้น หากเปรียบเทียบกับสำนวน การสอบสวนของพนักงานสอบสวนในการดำเนินคดีอาญาทั่วไปในศาลยุติธรรม หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยในความผิดที่อัยการฟ้องจำเลยนั้นต่อศาล

ย่อมถือว่าไม่มีการสอบสวนในความผิดฐานนั้น และอัยการย่อมไม่มีอำนาจฟ้องในข้อหานั้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา120 โดยหากอัยการยื่นฟ้องความผิดนั้นต่อศาล ศาลก็จะมีคำพิพากษายกฟ้อง

สำหรับกรณีที่ กกต. จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่นั้น เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะพิจารณาว่าจะรับคำร้องนั้นไว้พิจารณาหรือไม่ และหากรับคำร้องไว้พิจารณาแล้วจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร