“วิชา” ไม่อยากเห็น “เจ้าจำปี” ถูกลบชื่อ พลิกตำรา กม. ให้ความรู้ สาธารณะ

78
“วิชา มหาคุณ” โพสต์ ให้ความรู้ กฎหมายล้มละลาย หลังมีกระแสข่าว รัฐบาล จะปล่อยให้ “การบินไทย” ล้มละลาย ยันต้องรอให้ศาลมีคำสั่ง โดยมี 2แนวทางคือ “ล้มละลาย” กับ “ฟื้นฟูกิจการ” พร้อมย้ำ เป็นเรื่อน่าเสียใจ หากสายการบินแห่งชาติต้อง “ดับสูญสิ้นชื่อไป”
วันที่ 16 พ.ค.63 นายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว แสดงความเห็นเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และขั้นตอนทางกฎหมายการเข้าสู่การล้มละลาย เพื่อให้ข้อมูลทางกฎหมายที่ถูกต้องเกี่ยวกับข่าวที่ว่า ทางรัฐบาลจะปล่อยให้การบินไทยล้มละลาย และให้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ โดยระบุว่า  การล้มละลาย นั้นหมายถึง “การมีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งนำไปสู่คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และคำพิพากษาให้ล้มละลายของศาลล้มละลายกลาง ผลก็คือการเก็บรวบรวม การจำหน่าย และการแบ่งทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเสมอหน้ากัน กระบวนการดังกล่าวจะไม่มีการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการแต่อย่างใด”
ส่วนการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการนั้น จะต้องเริ่มต้นจากการร้องขอฟื้นฟูกิจการ แม้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายล้มละลาย ก็หาเรียกว่าเป็นกระบวนการล้มละลายไม่ แต่เรียกว่าเป็นกระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ซึ่งเป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ถือว่าเป็นทางเลือกอื่นนอกจากการล้มละลาย โดยลูกหนี้หรือเจ้าหนี้เป็นผู้ร้องขอก็ได้ ด้วยเหตุผลที่ว่ามีหนี้สินตั้งแต่สิบล้านบาทขึ้นไป มีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการได้ และศาลยังมิได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด หรือสั่งให้เลิกนิติบุคคล
นายวิชา กล่าวว่า ทัั้งนี้ เพียงแค่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้พิจารณา ก็จะเกิดสภาวะพักชำระหนี้ (automatic stay) ในทันที กล่าวคือเจ้าหนี้จะฟ้องร้องหรือบังคับคดีไม่ได้ ฯลฯ และถ้าศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ และเห็นชอบกับผู้ทำแผนที่ผู้ร้องเสนอมา ก็จะมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผน ซึ่งมีหน้าที่บริหารกิจการแทนลูกหนี้และจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ
“กระบวนการฟื้นฟูกิจการ จึงเหมาะอย่างยิ่งกับ บริษัทมหาชนจำกัด อย่างการบินไทย เพราะถือว่าเป็นองค์กรธุรกิจที่ยังสามารถดำเนินกิจการได้ แต่ขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จึงต้องอ้างถึงศักยภาพขององค์กรธุรกิจที่มีชื่อเสียง เคยได้รับความเชื่อถือจากผู้ใช้บริการ มีเส้นทางการบินทั้งในและต่างประเทศ มีทรัพย์สินทั้งมีตัวตนและไม่มีตัวตนมีมูลค่ามหาศาล มีกระทรวงการคลังถือหุ้นรายใหญ่ จึงมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการได้ หากปล่อยให้ล้มละลายย่อมกระทบถึงชื่อเสียงของประเทศเป็นส่วนรวม ตลอดจนกระทบต่อพนักงานและครอบครัว รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องอีกมากมาย
“การจัดทำแผน ต้องแล้วเสร็จในระยะเวลาสามเดือน โดยขยายเวลาได้ไม่เกินสองครั้งครั้งละไม่เกินหนึ่งเดือน ในแผนจะมีทั้งข้อเสนอในการปรับโครงสร้างหนี้ ที่ต้องลดหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย รวมทั้งการยืดเวลาชำระหนี้ รวมทั้งการปรับโครงสร้างกิจการ ที่สุดต้องผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมเจ้าหนี้ และศาลล้มละลายกลาง แล้วจึงบริหารแผนต่อไปโดยผู้บริหารแผนตามระยะเวลากำหนดไว้ในแผนไม่เกินห้าปี”
นายวิชา กล่าวและสรุปว่า รายละเอียดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนนั้นมีความซับซ้อนกว่าที่ได้อธิบายไว้ข้างต้นมาก โดยเฉพาะการหาผู้ทำแผน ผู้บริหารแผนทีมีความรู้ความสามารถ และเป็นที่ยอมรับในความซื่อสัตย์ของทุกฝ่าย “การบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติ หากต้องดับสูญสิ้นชื่อไป เพราะมีหนี้สินหลายหมื่นล้านบาท อันเกิดจากการล้มเหลวในการบรืหารจัดการ และบางส่วนก็มาจากการแสวงหาประโยชน์และการทุจริตของบุคคลทั้งภายในและนอกองค์กร เป็นที่น่าเสียใจ เสียดาย และเศร้าสลดใจ” คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวทิ้งท้ายในโพสต์ดังกล่าว “หวังว่าการบินไทยจะกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาตืที่สง่างาม นำความภาคภูมิใจมาสู่ประเทศ และประชาชนอีกครั้งหนึ่ง”