นักวิชาการ ม.รังสิต แนะภาครัฐ ใช้งบฯอย่างไร หลัง วิกฤตคลี่คลาย

85
คณบดีเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ชี้ โควิด-19 ทำให้ทั่วโลกหันมาพึ่งตลาดภายในประเทศ แนะรัฐใช้งบ 1.9 ล้านล้าน สร้างครัวเรือนให้เข้มแข็ง เสนอตั้ง “ธนาคารลูกจ้าง” ช่วยคนงานในระบบ 
วันที่ 19 พ.ค. 63 รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวถึงการใช้งบประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท ที่ รัฐบาล เตรียมไว้ใช้ฟื้นฟูประเทศชาติ ภายหลังสถานการณ์ โควิด-19 คลี่คลายลง ว่า  วิกฤตดังกล่าว  สร้างปัญหาทางเศรษฐกิจตามมามากมาย แต่ที่คนไม่ค่อยได้คิด คือ เรื่องการเมือง การโทษกันไปมาระหว่างอเมริกากับจีน ว่า เป็นต้นตอของเชื้อไวรัส เป็นไปได้สูงที่อเมริกาจะคว่ำบาตรจีน เมื่อการค้าระหว่างประเทศมีปัญหามาก จีนจึงคิดถึงสภาพคล่องของเขา ด้วยการประดิษฐ์ดิจิทัลหยวน ซึ่งกำลังทดลองใช้ ถ้านำมาใช้จริง เศรษฐกิจจีนจะไปเร็ว ด้านอเมริกาก็มีลิบรา ระหว่างดิจิทัลหยวน กับ ลิบรา ไทยจะเลือกอะไร เราจะถูกกดดันให้เลือกข้าง แล้วนำไปสู่การแยกขั้วของโลก
เมื่อเกิดการแยกขั้ว การค้าระหว่างประเทศหดตัวทันที เพราะจะค้าขายแต่กับฝ่ายของตัวเอง ทุกประเทศก็ถูกกดดันให้พึ่งตลาดภายในมากขึ้น ก็จะสงวนตลาดภายในไว้ให้ตัวเอง เกิดลัทธิพาณิชย์นิยมใหม่ตามมา ทุกคนคิดแต่จะส่งออก แล้วชะลอการนำเข้า พอภาวะเช่นนี้เกิดขึ้น ไทยจะอยู่อย่างไร ในที่สุด เราก็ฝืนกระแสโลกไม่ได้ จะเลือกข้างไปเลย หรือ บาลานซ์ทั้งสองฝ่าย จะทำได้หรือเปล่า ถ้าทำได้ก็ดี
รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวอีกว่า พอต้องสงวนตลาดภายใน จำเป็นต้องให้ธุรกิจของเราพึ่งพาได้ ตลาดภายในอยู่ที่รายได้ของครัวเรือน ถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ สร้างสมดุลใน 3 ระดับ คือ 1. ต้องสร้างสมดุลระหว่างการพึ่งตลาดต่างประเทศกับการพึ่งตลาดภายใน 2. ต้องทำให้เศรษฐกิจครัวเรือนเข้มแข็ง มีรายได้มากขึ้น เกิดสมดุลระหว่างเศรษฐกิจธุรกิจ กับเศรษฐกิจครัวเรือน  “แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สังคมไทยแทบจะทิ้งเศรษฐกิจครัวเรือน พอพูดถึงเศรษฐกิจ ก็ไปดูที่ตลาดหุ้น ตลาดทอง แต่ไม่พูดเลย ว่าจีดีพีไทยครึ่งหนึ่งมาจากครัวเรือน วันนี้ถึงเวลาที่ต้องมาพึ่งตลาดภายใน ต้องยกเศรษฐกิจครัวเรือนให้ทัดเทียมเศรษฐกิจธุรกิจ”
3. เราอยู่ในระบบทุนนิยม แต่การแข่งขันของเรา คนชนะมีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องนำไปสู่การปรับสมดุลการแข่งขันแบ่งปัน ไม่ใช่ปล่อยให้เอาคนตัวเล็กตัวใหญ่มาแข่งกัน คนตัวเล็กจะสู้ได้อย่างไร จึงต้องวางระบบจัดสรรแบ่งปันให้มากขึ้น โดยมี 2 เครื่องมือ คือ ระบบภาษี ที่คนรวยมากต้องจ่ายมาก และต้องส่งเสริมให้คนตัวเล็กมีกลุ่มมีก้อน เพื่อมีอำนาจต่อรอง  ถ้าทำไม่ได้ เราก็พึ่งตลาดภายในไม่ได้ เมื่อรัฐบาลหาเงินมา 1.9 ล้านล้าน ถ้าใช้ให้เป็น มองโฟกัส 3 สมดุลนี้
รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวต่อว่า เงินเยียวยา 5 พัน สำหรับไทย เป็นการเลือกเดินแนวทางโบราณของทุนนิยม คือ เห็นว่า ทุนนิยมสำคัญสุด ประชาชนสำคัญรองลงมา จะช่วยเศรษฐกิจต้องช่วยทุนก่อน ทำธุรกิจให้อยู่รอดแล้วธุรกิจจะไปช่วยชาวบ้านเอง  ส่วนอีกแนวทางที่ไทยไม่เลือกใช้ คือ โซเชียลมาร์เก็ตอีโคโนมี เป็นแนวทางเศรษฐกิจตลาดเพื่อสังคม ใช้ในแถบสแกนดิเนเวีย คือ ประชาชนมาก่อนทุน หรือมีความสำคัญเท่ากัน เขาจึงแจกเงินทุกคนโดยไม่คัดกรอง เพราะการคัดกรอง อย่างที่ไทย คนมีโอกาสใช้มือถือเป็นก็ได้ทุกคน แต่คนไร้บ้านไม่ได้ เพราะไม่มีมือถือ เขาแจกทุกคนและห้ามปลดออกจากงาน นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง ลดรายจ่ายได้ทันที เอสเอ็มอีอยู่ได้ เพราะคนยังซื้อของได้ ทุกประเทศ เอสเอ็มอี ประมาณ 80-90% พึ่งตลาดภายใน ถ้าคนมีกำลังซื้อ เอสเอ็มอีก็อยู่ได้
รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า ต้องเข้าใจ ครัวเรือนที่ใหญ่ที่สุดขณะนี้ ไม่ใช่ครัวเรือนเกษตรกร รัฐบาลไม่กล้าพูดคำนี้ แต่ที่มากที่สุดตอนนี้ คือครัวเรือนลูกจ้าง และที่มีปัญหามากที่สุด ก็คือ ครัวเรือนลูกจ้าง  เงินกองทุนประกันสังคม 2.3 ล้านล้าน ที่เขาสะสมกันมา รัฐบาลเอาไปทำอะไร รัฐบาลยืมไปใช้ถึง 1.5-1.7 ล้านล้านแล้ว ในขณะที่กวาดเงินมาช่วยธุรกิจ แต่เงินที่ลูกจ้างสะสมมา ได้นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของลูกจ้างอย่างไร ตอบได้ไหม บริษัทใหญ่มากขายหุ้นกู้ออกไป ตกใจกลัวหุ้นเจ๊ง ก็เลยตั้ง 4 แสนล้านบาทเพื่อช่วยหุ้นกู้ แต่คนงานสะสมมา 2.3 ล้านล้าน ชีวิตร่อแร่ แนวทางที่เดินนี้ ทบทวนบ้างได้ไหม
ตนเคยเสนอว่า ไหนๆ รัฐบาลก็ขายพันธบัตรให้กองทุนประกันสังคม 1.4 ล้านล้าน ขายพันธบัตรพิเศษสัก 3-5 หมื่นล้านได้ไหม เพื่อใช้จัดตั้งโครงการธนาคารลูกจ้าง หากตกงานมา ยังมีธนาคารเป็นตัวช่วย กู้มาทำธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ พร้อมกับส่งเสริมการประกอบอาชีพ แทนที่จะแจก 5 พันแล้วจบ
“มันไม่แฟร์กับลูกจ้าง เกษตรกรมีแหล่งทุนให้เข้าถึง หนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ใช่หนี้นอกระบบ เป็นหนี้ ธ.ก.ส. รองลงมาสหกรณ์เกษตร รองลงมากองทุนหมู่บ้าน แต่ลูกจ้างไม่มี ลูกจ้างมีกองทุนตัวเองแต่ใช้ไม่ได้ รัฐบาลไม่เคยคิดจะให้เขาใช้ กลับเอาเงินของเขาไปให้คนอื่นใช้” รศ.ดร.ณรงค์ กล่าว