งามหน้า! ไอลอว์ งัดข้อมูล แฉ “ผบ.ทัพ” โดดร่ม “เบี้ยวประชุม” สว.เกิน กำหนด

539
ไอลอว์ งัดสถิติ การประชุม สว.ของ ผบ.เหล่าทัพ ประจาน พบ ขาดประชุมอื้อ เกิน 1ใน4 ของจำนวนวันประชุม ยกเว้น “บิ๊กแป๊ะ” ขยันที่สุด ขาดประชุมลงมติ 99 ครั้ง โดยมี “บิ๊กแดง-ผบ.ทร.” ติดโผ หัวโจก เบี้ยวประชุม
วันที่ 25 พ.ค.63  ไอลอว์ หรือ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน  รายงานกรณี ผบ.เหล่าทัพที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิก วุฒิสภา (ส.ว.) ขาดการลงมติ ระบุว่า 5 ใน 6 ผู้นำเหล่าทัพ ติดอันดับ ส.ว.ไม่มาลงมติมากที่สุด
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 269 (1) (ค.) กำหนดโควตาที่มาของส.ว.จากกลุ่มทหารและตำรวจโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย 1.ให้ปลัดกระทรวงกลาโหม 2.ผู้บัญชาการทหารสูงสุด 3.ผู้บัญชาการทหารบก 4.ผู้บัญชาการทหารเรือ 5.ผู้บัญชาการทหารอากาศ 6.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจะได้เป็นส.ว.โดยตำแหน่ง ไม่ต้องลาออกจากราชการ ทำงานไปพร้อมกันได้
ก่อนจะดูความขยันขันแข็งของผู้นำเหล่าทัพ ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา ต้องเข้าใจว่าการเข้าประชุมและการลงมติ ถือเป็นหน้าที่หลักของ ส.ว. รัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนไขการพ้นตำแหน่งของ ส.ว.ที่ไม่เข้าร่วมประชุมสภาไว้ในมาตรา 111 (5) ว่าให้สมาชิกภาพของส.วสิ้นสุดลงเมื่อขาดประชุมเกิน 1 ใน 4 ของจํานวนวันประชุม หมายความว่าภายใน 120 วันนั้น ส.ว.ต้องเข้าประชุม 75% แต่ก็มีข้อยกเว้นว่าหากประธานวุฒิสภาอนุญาตให้ขาดประชุมก็จะไม่นับว่าขาดประชุม  จากการตรวจสอบทั้ง 145 มติ พบว่า ส.ว.ที่เป็นผู้นำทหารและตำรวจ 5 ใน 6 คน ติดโผ 10 อันดับคนที่ขาดลงมติมากที่สุด ได้แก่
1.พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์  ผบ.ทร. ขาด 144 มติ
2.พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์  ผบ.ทบ ขาด 143 มติ
3.พลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน อดีต ผบ.ทอ. เปลี่ยนเป็น พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผบ.ทอ. เข้าเป็น ส.ว. แทนตามตำแหน่งโดยใช้รหัสส.ว.เดิม เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 ทั้งสองคนรวมกัน ขาด 143 มติ
4.พลเอก พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.สส. ขาด 136 มติ
5.พลเอก ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ขาด 135 มติ
6.พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร มีสถิติไม่ได้เข้าลงมติ 99 มติ และเข้าลงมติ 46 มติ ถือว่าขาดน้อยที่สุดในบรรดาส.ว.เหล่าทัพ
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สว. กล่าวว่า ที่ขาดประชุมเพราะสมาชิกอาจมองว่า ไม่ค่อยสำคัญ จึงไม่มาลงมติ เพราะถึงอย่างไรก็ต้องทำตามมติที่กรรมาธิการเสนอมา ต้องขออภัยหากสมัยประชุมที่ผ่านมา ส.ว.ไม่ได้อยู่ลงมติในเรื่องข้อบังคับการประชุม แต่หลังจากนี้จะเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น ถ้าเป็นเรื่องสำคัญ ก็จะให้ ส.ว.อยู่ลงมติ
อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนไขการพ้นตำแหน่งของ ส.ว. ที่ไม่เข้าร่วมประชุมสภาไว้ในมาตรา 111 (5) ว่า ให้สมาชิกภาพของ ส.ว สิ้นสุดลง เมื่อขาดประชุมเกิน 1 ใน 4 ของจํานวนวันประชุม สมัยประชุมมี 120 วัน ต้องมาเข้าประชุมมากกว่า 75% คือ 90 วัน แต่ก็มีข้อยกเว้นว่าหากประธานวุฒิสภาอนุญาตให้ขาดประชุมก็จะไม่นับว่าขาดประชุม ซึ่งปกติประธานก็อนุญาตตลอดอยู่แล้ว