โชว์สปิริต! “อนุทิน” อาสาเป็น”หนูลองยา” ฉีดวัคซีนโควิด-19 คนแรกของไทย

127

รมว.สาธารณสุข โชว์สปิริต อาสาฉีดวัคซีนป้องกันโควิดไทยเป็นคนแรก หลังทดลองในลิงแล้ว พบว่ามีความก้าวหน้าไปมาก ทีมคณะวิจัยเผย หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน ประเทศไทยจะมีข่าวดี ปลายปี 2564

วันที่ 18 มิ.ย.2563 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ว่า มีการคิดค้น วิจัย และก้าวหน้าไปมาก หลังจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (NVI) และ คณะนักวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทดลองวัคซีนต้นแบบป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA ของศูนย์วัคซีนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทดลองในลิงชุดแรก ที่ ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จ.สระบุรี เพื่อดูการตอบสนองภูมิคุ้มกันและอาการแพ้ แต่ยังไม่ได้มีการทดลองกับคนเนื่องจากยังไม่มีอาสาสมัคร

โดย ระหว่างการประชุม ครม.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วง พร้อมกับสอบถาม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ว่า พร้อมที่จะเป็นอาสาสมัครคนแรกของประเทศหรือไม่ ซึ่งนายอนุทิน ยืนยันว่า พร้อมที่จะเป็นผู้ทดลองวัคซีนเป็นคนแรก มั่นใจในความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์

สำหรับการทดลองในคนมี 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ทดลองในอาสาสมัคร100 คน แบ่งกลุ่มละ 10-15 คน จะฉีดวัคซีนขนาดโด๊สต่ำ, โด๊สกลาง และโด๊สสูง 1-2 เข็ม และจะเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ฉีดวัคซีนหลอกเพื่อดูอาการ ไข้ ผื่น เน้น กลุ่ม คนทั่วไป ที่มีความเสี่ยงต่ำ ระยะที่ 2 ทดลองในอาสาสมัคร 500 คน เป็นกลุ่มคนทั่วไป จะให้โด๊สยาต่ำลงกว่าในกลุ่มแรก และ ระยะที่ 3 ทดลองอาสาสมัครกลุ่มใหญ่ โดยเลือกจากพื้นที่การระบาดมากและมีอาชีพเสี่ยง

ก่อนหน้านี้ นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยว่า การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของไทย ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล คณะเภสัช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไบโอเทค สวทช. บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด เพื่อพัฒนาวิจัยวัคซีนต้นแบบในหลายรูปแบบทั้งรูปแบบดีเอ็นเอ (DNA), เอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA)

แต่ที่มีความก้าวหน้า 2 ตัว คือ DNA วัคซีน และ mRNA วัคซีน โดยวัคซีน DNA ของบริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด และไบโอเทค เริ่มทดสอบในหนูทดลองแล้ว ส่วนวัคซีน mRNA โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านการทดสอบในหนูแล้ว และได้ทดสอบในลิงไปเมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยจะใช้เวลาในการทดลอง 3-6 เดือน