ศาลฏีกา ยืน! สั่งคุก ”นปช.” บุก “บ้านสี่เสา” ไม่รอลงอาญา

255

ศาลฏีกา สั่งคุก นปช.บุกบ้าน ประธานองคมนตรี ชี้จงใจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ส่วนกรณี จำเลยขอให้ลงโทษสถานเบานั้น ฟังไม่ขึ้น เห็นพ้องกับ ศาสอุทธรณ์ ยืนจำคุก ทั้งหมดคนละ2ปี 8 เดือน

ความคืบหน้าล่าสุด ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.3531/2552 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทย์ฟ้อง 1.นายนพรุจ หรือนพรุฒ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 2.นายวีระศักดิ์ เหมะธุลิน 3.นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช. 4.นายวันชัย นาพุทธา 5.นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท 6.นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. และ7.นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. เป็นจำเลยที่ 1-7 ความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

ก่อนหน้านี้มีการเลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกามาแล้ว 4 ครั้ง ตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2562 จากเหตุที่นายวีระกานต์ จำเลยที่ 4 แจ้งป่วย จากนั้นได้เลื่อนมาวันที่ 23 ก.ย. 2562 แต่จำเลยที่ 4-7 ขอกลับคำให้การเดิมจากปฏิเสธสู้คดี เป็นขอรับสารภาพผิด ทำให้ “ศาลอาญา” ต้องส่งคำพิพากษากลับไปให้ศาลฎีกาพิจารณาใหม่อีกครั้ง ก่อนนัดอ่านคำพิพากษาฎีกาวันที่ 6 ก.พ. 2563

แต่แล้วต้องเลื่อนอ่านคำพิพากษาฎีกา เมื่อนายนพรุจจำเลยที่ 1 ย้ายที่อยู่ไม่สามารถส่งหมายนัดให้นายนพรุจได้ ทำให้ต้องเลื่อนนัดวันที่ 30 เม.ย.2563 แต่อยู่ในช่วงการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส “โควิด” ซึ่งศาลได้ประกาศให้ใช้ดุลพินิจเลื่อนคดี มาถึงนัดล่าสุดในวันศุกร์ที่ 26 มิ.ย.นี้ เวลา 09.00 น.

ทั้งนี้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล , นายวีระศักดิ์ เหมะธุลิน , นายวันชัย นาพุทธา , นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) , นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. , นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นพ.เหวง โตจิราการ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. เป็นจำเลยที่ 1-7 ในความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และข้อหาอื่น ๆ

กรณีนำขบวนผู้ชุมนุมหลายพันคน ไปยังบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เพื่อเรียกร้องกดดันให้ พล.อ.เปรม ลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2550

โดยคดีนี้ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำคุก นายนพรุจ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน ส่วนนายวีระกานต์ , นายณัฐวุฒิ , นายวิภูแถลง และ นพ.เหวง จำเลยที่ 4-7 ให้จำคุกคนละ 4 ปี 4 เดือน และให้ยกฟ้อง นายวีระศักดิ์ และนายวันชัย จำเลยที่ 2-3 พร้อมให้ริบของกลางทั้งหมด

ต่อมา จำเลยที่ 1 , จำเลยที่ 4-7 ยื่นอุทธรณ์ ส่วนจำเลยที่ 2-3 อัยการโจทก์ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมหารือกันแล้ว เห็นว่า อัยการโจทก์มีพยานเป็นตำรวจหลายนาย รวมทั้งนักข่าวและช่างภาพอีก2 คน ให้การสอดคล้องกันในรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ปรากฏในวีซีดี ที่เป็นพยานหลักฐานบันทึกการชุมนุม ดังนั้นพยานหลักฐานของโจทก์ จึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4-7 มีความผิด ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และร่วมกันชุมนุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

แต่ที่ศาลชั้นต้น พิพากษาจำคุกนายวีระกานต์ , นายณัฐวุฒิ , นายวิภูแถลง และ นพ.เหวง จำเลยที่ 4-7 ฐานร่วมกันชุมนุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ และเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิกฯ ตาม มาตรา 215 กับ มาตรา 216 รวม 2 กระทงนั้นศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจากการกระทำของจำเลยดังกล่าวมีเจตนาเดียว เพื่อให้เกิดความวุ่นวาย จึงเป็นการกระทำผิดเพียงกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท

ศาลอุทธรณ์ จึงพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก จำเลยที่ 4-7 ฐานเป็นผู้สนับสนุน ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 138 ให้จำคุกคนละ 1 ปี และฐานเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการ มั่วสุมตั้งแต่10 คนขึ้นไปฯ ตามมาตรา 215 วรรคสาม ซึ่งเป็นบทหนักสุด อีกคนละ 3 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์ลดโทษ 1ใน 3 คงจำคุก จำเลยที่ 4-7 คนละ 2 ปี 8 เดือน ไม่รออาญา ส่วนนายนพรุจ จำเลยที่ 1 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นจำคุก 2 ปี 8 เดือน ไม่รออาญา

นายวีระศักดิ์ เหมะธุลิน, นายวันชัย นาพุทธา, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. , นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. เป็นจำเลยที่ 1-7 ในความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ นั้น

ล่าสุด มีรายงานว่า ศาลฎีกาตรวจสำนวนปรึกษาหารือกันเเล้วว่าการกระทำของจำเลยที่ 1,4-7 มีพฤติการณ์ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองเป็นเรื่องร้ายเเรงที่จำเลยทั้งหมดขอให้ลงโทษสถานเบาเเละรอการลงโทษนั้นศาลฎีกาเห็นว่าฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้นศาล เห็นพ้องกับที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษพิพากษายืนจำคุกจำเลยทั้งหมดคนละ 2 ปี 8 เดือน