สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร กษัตริย์ของไทยในรัชกาลที่ 10

127

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เป็นพระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี และเป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

พระราชสมภพ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรเป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เวลา 17:45 น. มีพระเชษฐภคินี คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินีสองพระองค์คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

ขณะพระชนมายุได้หนึ่งพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชทานพระนาม ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นผู้ตั้งพระนามถวายตามดวงพระชะตา ว่า

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล  อภิคุณูปการมหิตลาดุลเดช  ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณสวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร

พระนาม “วชิราลงกรณ” นั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ทรงตั้งถวาย มาจาก “วชิรญาณะ” พระนามฉายาขณะผนวชในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผนวกกับ ”อลงกรณ์”Ž จากพระนามในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความหมายว่า “ทรงเครื่องเพชรนิลจินดา” หรืออาจแปลว่า “อสุนีบาต”

สมเด็จพระยุพราช

เมื่อมีพระชนมายุครบ 20 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร”

การศึกษา

ในปี พ.ศ. 2499 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงสำเร็จการศึกษาขั้นต้นในระดับอนุบาล รุ่นที่ 2 จากโรงเรียนจิตรลดา แล้วจึงเสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด แคว้นซัสเซกส์ และศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลฟิลด์ แคว้นซอมเมอร์เซทประเทศอังกฤษ หลังจากนั้น ทรงศึกษาต่อวิชาทหารที่โรงเรียนคิงส์สกูล ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เสร็จแล้ว ทรงการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ (ด้านการทหาร) จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. 2519

เมื่อนิวัติประเทศไทยทรงรับราชการทหารแล้วทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 46 เมื่อปี พ.ศ. 2520 ทรงเข้าศึกษาในสาขาวิชานิติศาสตร์ รุ่นที่ 2 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเมื่อ พ.ศ.2525 ทรงสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2)  และปี พ.ศ. 2533 ทรงได้รับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งสหราชอาณาจักร

พระองค์เคยตรัสว่า เคยประสบปัญหาผลการเรียนที่ไม่น่าพึงใจ อันเป็นผลจากการที่ทรงถูกเลี้ยงดูมาอย่างประคบประหงม

ผนวช

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระทัยศรัทธาจะอุปสมบทในพระพุทธศาสนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ทรงผนวชในวันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 เวลา 15.00 น. ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) ถวายอนุสาสน์ ผนวชแล้วเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร พระมหารัชมงคลดิลก (บุญเรือน ปุณฺณโก) เป็นพระอภิบาล ผนวชอยู่ 15 วันจึงลาผนวช

เสวยราชย์

เมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถสวรรคตในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เป็นที่คาดหมายว่าพระองค์จะสืบราชสมบัติต่อ ทั้งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ยืนยันว่า จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ แต่ทรงขอผ่อนผัน พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โดยตำแหน่งไปพลางก่อน

จนกระทั่งวันที่ 1 ธันวาคม ศกนั้น จึงทรงรับขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดยมีพระปรมาภิไธยว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” ซึ่งในวันนั้น ทรงพระราชทานพระราชวโรกาส ให้พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และวีรพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกาเข้าเฝ้าเพื่อกราบบังคมทูลเชิญขึ้นสืบราชสมบัติ การนี้ทรงกล่าวตอบรับการเสด็จขึ้นครองราชย์ ความว่า

ตามที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาได้กล่าวในนามของปวงชนชาวไทย เชิญข้าพเจ้าขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ว่าเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ข้าพเจ้าขอตอบรับเพื่อสนองพระราชปณิธาน และเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทั้งปวง

ที่มา : Wikipedia